Galaxy Gear & Google Glass เปิดศักราชคอมพิวเตอร์สวมได้ (Wearable computer)

“หลายคนมองว่า smart watch ทั้งหลายอาจจะไม่เวิร์ค เพราะคนรุ่นใหม่ไม่นิยมสวมนาฬิกาเหมือนแต่ก่อน หรือจะทำเป็นแว่นออกมาแบบ Google ก็ไม่แน่ว่าคนจะชอบ เพราะต้องมีอะไรรุงรังเป็นเสมือนส่วนเกินขึ้นมาอีก”?

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2013 ในงาน IFA ที่เบอร์ลิน Samsung ได้เปิดตัวอุปกรณ์ชนิดใหม่ในรูปแบบนาฬิกาข้อมือที่สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนและรันแอพพลิเคชั่นได้ ในชื่อ Galaxy Gear หน้าปัดนาฬิกาเป็นระบบหน้าจอสัมผัส (touchscreen) มีกล้องฝังอยู่ที่สายคาดด้านหน้า และมีไมโครโฟนสำหรับคุยโทรศัพท์อยู่ด้านหลัง ความจริงนาฬิกาประเภทนี้มีมาก่อนแล้วจากหลายเจ้า เช่น Sony และอื่นๆ เรียกกันรวมๆ ว่าเป็น Smart watch แม้แต่ Apple ก็มีข่าวลือว่าจะออกนาฬิกาในชื่อ iWatch มาก่อนหน้า แต่ก็ยังไม่มีออกมา ส่วน Sony ก็เปิดตัว Smart Watch รุ่นใหม่ออกมาในงานนี้เช่นกัน ถึงแม้จะมีความสามารถน้อยกว่า แต่ก็สามารถใช้งานร่วมกับมือถือระบบ Android ได้ทุกรุ่น และแบตทนอยู่ได้ 2-3 วัน ขณะที่ของ Samsung ต้องใช้กับเครื่องของ Samsung เท่านั้น และแบตอยู่ได้ไม่เกิน 25 ชั่วโมง

Samsung Galaxy Gear

Samsung Galaxy Gear เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายน 2013

Sony Smart Watch

Sony Smart Watch 2

หลายเดือนก่อนหน้านี้ Google ได้เปิดตัวแว่นวิเศษ Google Glass ?ที่มีกล้องติดอยู่ และสามารถแสดงข้อมูลต่างๆ ให้ผู้สวมเห็นเสมือนว่าอยู่หน้าจอภาพ โดยฉายภาพจากเครื่องโปรเจ็คเตอร์จิ๋วในกรอบแว่นไปที่กระจกแว่น ไม่ว่าจะมองไปทางไหน แว่นวิเศษนี้ก็จะตอบสนองต่อสภาพโดยรอบ และแสดงข้อมูลให้คุณเห็น ทั้งเส้นทางที่จะเดิน สภาพการจราจร ข่าว และข้อมูลอื่นๆ ที่หาได้จากเน็ต แว่นที่ว่านี้ไม่มีคีย์บอร์ดและทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟน จึงใช้การรับคำสั่งด้วยเสียง เช่นที่เราได้ยินในโฆษณาว่า “OK Glass!” นั่นเอง

Google Glass มีทั้งกล้องถ่ายภาพนิ่ง วิดีโอ แชร์ภาพที่เราเห็นให้คนอื่นดูได้
และฉายภาพหรือข้อมูลผ่านโปรเจ็คเตอร์จิ๋วให้เราเห็นได้ตลอดเวลา

ที่จริงรายชื่ออุปกรณ์ประเภทเดียวกันที่ทะยอยเปิดตัวเมื่อเร็วๆ นี้ หรือที่จะตามกันออกมาในอนาคตอันใกล้ น่าจะไล่ได้อีกยาวเป็นหางว่าวทีเดียว และเป็นเครื่องยืนยันถึงว่า ยุคของคอมพิวเตอร์ที่สวมได้ หรือ wearable computer ได้มาถึงแล้วจริงๆ เรากำลังอยู่ตรงชายขอบของเทคโนโลยีที่จะนำเราไปสู่การที่คอมพิวเตอร์คอยเคียงข้างเราอยู่ในทุกที่ทุกเวลา และทุกอิริยาบทยิ่งกว่าที่โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนทั้งหลายเคยเป็น

Telepathy One ออกแบบให้คาดไปทางด้านหลัง แต่มีโปรเจ็คเตอร์จิ๋วแบบเดียวกับ Google Glass

หลายคนมองว่า smart watch ทั้งหลายอาจจะไม่เวิร์ค เพราะคนรุ่นใหม่ไม่นิยมสวมนาฬิกาเหมือนแต่ก่อน หรือจะทำเป็นแว่นออกมาแบบ Google ก็ไม่แน่ว่าคนจะชอบ เพราะต้องมีอะไรรุงรังเป็นเสมือนส่วนเกินขึ้นมาอีก แล้วอุปกรณ์พวกนี้ก็มักจะต้องเชื่อมต่อเน็ตผ่านสมาร์ทโฟนด้วยวิธี Tethering อีกที ไม่สามารถจะต่อตรงกับเน็ตได้ เพราะจำกัดทั้งพลังงานและค่าบริการเชื่อมต่อ ซึ่งทำให้ผู้ใช้ยิ่งไม่สะดวก แถมยังต้องคอยชาร์จแบตเตอรี่บ่อยๆ แต่ฟังดูก็คล้ายกับปัญหาของสมาร์ทโฟนในยุคแรกๆ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หากเทคโนโลยีนั้นมีประโยชน์ใช้สอยมากพอก็จะได้รับการยอมรับและปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตปัญหาคือประโยชน์ที่น่าสนใจพอของอุปกรณ์ wearable computer ทั้งหลายสำหรับคนทั่วไปคืออะไร? ทั้งนี้ไม่นับประโยชน์ในงานเฉพาะอย่าง เช่น ทหาร หรือผู้ปฏิบัติงานภาคสนามที่มือไม่ว่างจะจับอุปกรณ์อื่นๆ ?รวมถึงแพทย์หรือหน่วยกู้ภัย ฯลฯ แต่เรากำลังถามถึงประโยชน์สำหรับคนทั่วไป ซึ่งหากขาดข้อนี้แล้วก็ยากที่ยุคของ Wearable computer จะเกิดได้

หากจะมองหาประโยชน์ที่เลยไปกว่าการเป็น gadget เท่ห์ๆ ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลาแล้ว ก็ต้องดูที่ฟังก์ชั่นของมัน อุปกรณ์ประเภทนี้ถูกออกแบบมาด้วยจุดมุ่งหมายหลักเพื่อให้สามารถ ?”แทรกหรือแฝงตัวเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้ใช้ได้อย่างไม่ผิดปรกติ” การใช้งานจะต้องเป็นธรรมชาติที่สุด เช่น เรามองไปทางไหนแว่นก็หันไปทางนั้น ข้อมูลต้องแสดงขึ้นมาซ้อนบนภาพที่ตาเห็นตามปกติเลย หรือการที่คนจำนวนไม่น้อยยังคุ้นเคยกับการยกนาฬิกาข้อมือขึ้นมาดูเวลาอยู่ ทำให้การสวมนาฬิกาตลอดเวลาเป็นเรื่องธรรมดา ฯลฯ

ภาพจาก Google Glass

“แล้วการทำได้อย่างนั้นจะมีประโยชน์เพิ่มขึ้นตรงไหน นอกเหนือจากที่เราต้องพกพาสมาร์ทโฟนกันอยู่แล้ว?” หลายคนอาจจะถาม แนวคิดที่เป็นคำตอบในเรื่องนี้คือ เราจะต้องมีอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยส่วนตัวในแบบที่ “ลงมือล่วงหน้า” (proactive) เช่น

  • แทนที่จะรอให้คุณหยิบมือถือขึ้นมาดูว่าวันนี้อากาศจะเป็นอย่างไร ฝนจะตกหรือไม่ ซึ่งคุณอาจลืมหยิบมาดูก็ได้ แต่หากเป็นแว่นตา มันก็ต้องรู้ว่าตอนนี้คุณกำลังจะออกไปนอกอาคาร และฉายภาพขึ้นมาเตือนเลยว่า “วันนี้ฝนจะตกนะ เตรียมหยิบร่มไปหรือยัง”

Fitbit แบบต่างๆ และ Jawbone Up ต้นแบบของ wearable computer เพื่อสุขภาพ

  • รู้ว่าสุขภาพของคุณเป็นอย่างไร และควรปฏิบัติตัวอย่างไร เช่น รู้ว่าวันนี้คุณออกกำลังไปแค่ไหนแล้ว และคอยเตือน เช่น เดินน้อยไป วิ่งมากพอแล้ว ความดันโลหิตหรือชีพจรสูงต่อเนื่องกันนานเกินไป นอนน้อยไป หลับลึกไม่นานพอ ซึ่งแปลว่าคุณต้องใส่มันนอนด้วยตลอดคืน (หรือในอนาคตอาจรวมถึงระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดด้วย หากมีใครสามารถประดิษฐ์เซ็นเซอร์วัดแบบไม่ต้องเจาะเลือดขึ้นมาได้) ฯลฯ ซึ่งสุขภาพเป็นเทรนด์ที่มาแรง ดังจะเห็นได้จากการที่อุปกรณ์สวมใส่ประเภทนี้ขายดีมากในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น Fitbit รุ่นต่างๆ, Jawbone Up หรืออื่นๆ ซึ่งบรรดาสมาร์ทโฟนหรือสมาร์ทวอทช์ทั้งหลายก็จัยเอาความสามารถเรื่องนี้ใส่เข้าไปด้วยแล้ว
  • หากคุณมีนัดหมายประชุมที่บริษัทของลูกค้าในเวลาอีกไม่นาน แต่คุณยังไม่ได้ออกจากออฟฟิศเลย ก็ต้องรู้ว่า จากออฟฟิศของคุณไปที่ลูกค้าอยู่ไกลแค่ไหน ต้องเผื่อเวลาเดินทางเท่าไหร่ รวมทั้งเผื่อสภาพการจราจรหรือวิธีเดินทางในขณะนั้นด้วย เช่น รถติดมากต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางไหน หรือควรไปรถใต้ดินแทน แล้วคำนวณว่าคุณจะต้องออกจากออฟฟิศช้าที่สุดเมื่อไหร่ พอจวนถึงเวลาก็เตือน ไม่ใช่เตือนแค่ล่วงหน้า 1-2 ชั่วโมงตามที่ตั้งไว้เท่านั้น
  • นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการช่วยงานคุณในด้านอื่นๆ เช่น เตือนและจัดเตรียมคำอวยพร ของขวัญ ข้อความแสดงความยินดี หรือแสดงความเสียใจ ในโอกาสต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนใกล้ชิด คนในครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงาน ช่วยต่อโทรศัพท์หรือส่ง message หาคนที่เราต้องการ หรือติดต่อเรียกคนมาช่วยเราในกรณีฉุกเฉิน โดยรวบรวมข้อมูลจาก Social network ที่คุณใช้

ทั้งหมดนี้ต้องทำด้วยวิธีที่เงียบและไม่รบกวนชีวิตประจำวันของผู้ใช้ให้ผิดไปจากปกติ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมอุปกรณ์ปลายทางที่ทำหน้าที่ติดต่อกับผู้ใช้ถึงต้องเป็น wearable computer ในรูปแบบต่างๆ แทนที่จะเป็นสมาร์ทโฟน เพราะมันเป็นของที่จะต้องอยู่กับตัวเราหรือในสายตาของเราตลอดเวลา ไม่ใช่จะถูกหยิบขึ้นมาเฉพาะเวลาที่นึกได้เท่านั้น

แต่ทั้งหมดนี้นอกจากอุปกรณ์ที่ติดกับตัวเราแล้ว ยังต้องมีซอฟต์แวร์บนระบบ cloud ที่ซับซ้อนพอจะขุดคุ้ยวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมหาศาลและหลากหลายรูปแบบจากโลกภายนอก แล้วประมวลมาเป็นการกระทำหรือ action ที่ตอบสนองความต้องการของเราได้ ดังนั้นจุดสำคัญของ wearable computer จริงๆ คืออยู่ตรงนี้ ตรงที่คอมพิวเตอร์จะคอยเป็นผู้ช่วยเราอยู่ตลอดทุกขณะ รับรู้ความเป็นไปในชีวิตของเรา แผนการที่เราจะทำ คนที่เรารู้จัก ฯลฯ โดยไม่ต้องคอยหยิบขึ้นมาดู ซึ่งปัจจุบันหลายๆ บริษัทก็ทุ่มทุนสร้างซอฟต์แวร์ในแนวนี้กันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น Google Now!, EasilyDo หรือบางทีก็ฝังอยู่ในหลายๆ แอพบนสมาร์ทโฟนหรือ social network อยู่แล้ว เช่นการเตือนวันเกิดเพื่อนใน Contact หรือ Facebook เพียงแต่ว่าระบบของใครจะพัฒนาไปถึงจุดที่ได้รับความนิยมใช้กันแพร่หลาย หรือรวมเอาความสามารถของระบบอื่นๆ เข้ามาได้ครบมากกว่ากัน

หน้าจอ Google Now! ที่จะคอยบอกว่าเรามีอะไรในชีวิตรออยู่บ้าง ตามที่เราใส่ข้อมูลไว้

ใครที่เป็นห่วงเรื่องที่ว่าซอฟต์แวร์ประเภทนี้จะละเมิดความเป็นส่วนตัวของเรา ฟังแล้วอาจจะถึงกับขนลุกทีเดียวกับความคิดที่ว่ามีคอมพิวเตอร์คอยติดตามการกระทำต่างๆ ของเราอยู่แทบทุกขณะ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าคิดจริงๆ ว่าเราอยากให้เทคโนโลยีเข้ามาในชีวิตถึงขนาดนั้นหรือเปล่า แต่อย่าลืมนะครับว่าปัจจุบันนี้หลายๆ อย่างก็เป็นเรื่องที่เราใช้คนทำกันอยู่แล้ว เช่นบรรดาคนสนิทหรือเลขาของผู้บริหารนั่นยังไง รู้ไปแทบทุกเรื่องที่เจ้านายทำ แล้วเทคโนโลยีจะช่วยให้คนธรรมดาๆ ที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารสามารถมีเลขาที่รู้ใจกะเขาบ้างไม่ได้หรือ ไม่ว่าจะเป็นแค่เสียงอย่าง Siri บน iPhone หรือจะถึงกับปรากฏตัวขึ้นตรงหน้าด้วย projector จิ๋วในแว่นตา เพื่อพูดคุยกับเราได้เลย (ถ้างั้นขอให้เลือกหน้าตากับชุดของเธอได้ด้วยเลยจะดีมั้ย แฮ่ม!)

EasilyDo ซอฟต์แวร์ Proactive Personal Assistant ที่รวมเอาข้อมูลสารพัดเข้ามาด้วยกัน

อีกอย่าง ถ้าใครเพิ่งมานึกกลัวเรื่องความเป็นส่วนตัวเอาตอนนี้ อย่าลืมว่าคุณให้ข้อมูลชีวิตประจำวันทั้งหลายแหล่กับ social network อย่าง Facebook ไปเพียบตั้งนานมาแล้วนะครับ อย่างที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เจ้าพ่อเฟซบุ๊คเคยพูดไว้แหละว่า “The age of privacy is over!” นั่นแหละครับ ^_^