“ใช้ LINE แชทเกิน 100 คนในกลุ่มได้ยังไง ?” ตอบแบบสั้นกับแบบยาว

บังเอิญที่บริษัท โปรวิชั่น ที่ผมทำอยู่ ได้ทำหนังสือเกี่ยวกับการใช้แอพ LINE ด้วย ก็เลยมีผู้อ่านถามมาว่า “ใช้ LINE แชทเกิน 100 คนในกลุ่มได้ยังไง ?” เพราะตอนนี้แอดสมาชิกในห้องแชทไปจวนจะเต็ม 100 แล้ว คำถามนี้ตอบสั้นๆ ว่า “ทำไม่ได้ครับ แอพเค้าทำมาให้แค่นั้นเอง” ก็ได้ แต่ก็คงมีคำถามต่อว่าจะทำอย่างไรดีจึงจะแชทกันมากกว่า 100 คนได้ กรณีที่ยกมาคือสมาชิกในหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ มีนับได้เกินร้อยบ้าน จะส่งข่าวถึงกันแบบทันทีทันใด มีตั้งแต่เรื่องรถติดวันนี้เข้าออกทางไหนดี หรือจะเข้าออกหมู่บ้านทางไหนเพื่อหลบการชุมนุมทางการเมือง จนถึงเรื่องสัพเพเหระ ให้กำลังใจ ขำขัน ฯลฯ

2014-01-27_122922

ตอบแบบสั้น

ทางออกแบบง่ายที่พอจะแนะนำได้ก็เช่นการตั้ง Group ย่อยหลายๆ อันแยกไป เป็น Group 1, 2, … ซึ่งไม่ค่อยสะดวกเพราะคนที่เป็นแอดมินซึ่งอยู่ทุกห้องต้องมีภาระคอยเอาข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากห้องหนึ่งไปใส่ห้องอื่นๆ ให้ จะไปใช้แอพในตระกูล LINE อย่าง LINE Band ที่รับส่งได้มากคนกว่านั้น คนไทยก็ไม่ค่อยเล่นกัน เห็นทีจะต้องกลับไปพึ่ง Facebook กันแล้ว เพราะการส่ง message ใน Facebook สามารถส่งได้พร้อมกันถึง 250 คน (อ้างอิงจาก www.facebook.com/help/131313586947248) แต่ก็นั่นแหละครับ คำถามเดิมคือถ้าเกิน 250 อีกแล้วจะทำอย่างไร อันนี้ Facebook แนะนำว่าถ้าจะสื่อสารกับคนจำนวนมากพร้อมกัน ให้ไปโพสต์ที่ใน Group แทนการส่ง message จะดีกว่า

ที่จริงแล้วบางทีไม่ทันถึง 250 คน บางคนที่ส่งบ่อยๆ ก็บอกว่าโดน Facebook เตือนให้ลดจำนวนคนใน Group ลงเสียบ้างแล้ว (ไม่งั้นอาจโดนบล็อคไม่ให้ส่ง message อีก) แอพอื่นๆ ที่นิยมใช้กันใน
ส่วนอื่นๆ ของโลกอย่าง Whatsapp ก็จำกัดจำนวนแค่ 50 คนใน Group เท่านั้น

ตอบแบบยาว

ถ้าจะคิดให้ละเอียดแล้ว เรื่องนี้มองได้สองแง่ แง่หนึ่งคือความสะดวก ที่เราใช้ LINE กัน (หรือแม้แต่การส่ง message ใน Facebook) ก็เพราะมันง่าย ส่งปุ๊บถึงทันที เหมาะกับเรื่องด่วนที่ต้องการบอกให้ถึงตัวผู้รับทันทีทันใด แต่ที่คนออกแบบโปรแกรมมักทำข้อจำกัดไว้ เพราะปัญหาเทคนิคที่การรับส่ง message แบบทันทีทันใดกับคนหมู่มากที่ส่งได้ทั้งภาพ เสียง ฯลฯ จะทำให้
เกิดข้อมูลปริมาณมหาศาลบนเน็ตยิ่งกว่าอีเมล์ขยะหรือสแปม (ที่ว่ากันว่ากินที่ในการรับส่งบนอินเทอร์เน็ตไปกว่า 1 ใน 3 แล้ว) เสียอีก

อีกแง่หนึ่งที่ควรมองก็คือ เวลาที่คนนับร้อยๆ พูดพร้อมกัน หรือเอาแค่ไม่กี่สิบคนพูดพร้อมๆ กันในห้องที่มีคนฟังเป็นร้อย มันยากที่จะตั้งใจฟังได้ว่าใครพูดอะไร ใน LINE Group ที่มี
มากกว่า 40 – 50 คน ซึ่งในเครื่องผมซึ่งมีแบบนี้อยู่หลาย Group มันดังแทบจะตลอดเวลา จนในที่สุดก็ต้องปิดเสียงเตือนของ Group นั้นๆ ไป (วิธีการตามรูปครับ) ให้เหลือแต่ตัวเลข
แดงๆ แล้วเวลาไหนอยากรู้ว่ามีคนคุยอะไรกับค่อยมาไล่อ่านผ่านๆ สักครั้ง เช่นทุก 2-3 วัน (ซึ่งก็ไม่ค่อยตรงวัตถุประสงค์ของการส่ง LINE ที่ต้องการให้่ได้รับทันทีแล้ว) ผมเชื่อว่ามีคน
อีกไม่น้อยที่ต้องปิดเสียงแล้วมาดูเป็นระยะๆ แบบเดียวกันกับผม และส่วนมากก็พบว่ามีทั้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ (แต่สายไปแล้ว) กับเรื่องสัพเพเหระ ทักทาย รูปภาพ คำคม ฯลฯ

วิธีปิด Notification แยกแต่ละ Group ใน LINE

แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร? ทำยังไงถึงจะสื่อสารกับคนหมู่มากได้แบบทันทีทันใดโดยผู้รับยังให้ความสำคัญที่จะเปิดดูเหมือนเดิม? เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ตอบยากสุด เพราะ “จริต”
หรือความชอบ การให้ความสำคัญของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนว่างพอที่จะนั่งไล่อ่าน LINE ได้เรื่อยๆ ทุกข้อความ บางคนไม่อยากคลิกเข้าไปอ่านโพสต์ใน Facebook เพราะต้อง
เปิดหลายชั้น แถมบางทีก็รอนานกว่าจะขึ้น บางคนพอข้อมูลแบบด่วนทันทีทันใดมามากๆ เข้าจนล้น ก็เลยปิดเสียงเพราะเชื่อว่า “ไม่ด่วนจริง” อีกต่อไป

ทางแก้ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดก็คงจะเป็นการปรับการใช้งานช่องทางเหล่านี้ให้เหมาะกับผู้ใช้ในแต่ละกลุ่มนั้นๆ เช่น

  • ถ้ามีเรื่องคุยกันมากแต่ไม่ด่วน ก็ควรไปโพสต์ใน Facebook หรือแม้แต่ Timeline หรือ Note ของ LINE ก็ได้ ใครว่างเมื่อไหร่ค่อยไปคลิกอ่านดู
  • เก็บเฉพาะเรื่องด่วนจริงๆ ไว้คุยกันทาง LINE (ไม่เกิน 100 คน) หรือ message ของ Facebook (ไม่เกิน 250 คน) ที่ส่งแล้วถึงตัวทันที เพื่อให้มีข้อมูลน้อยลงพอที่ทุกคนจะสนใจอ่าน
  • ส่วนถ้ามีเรื่องต้องป่าวประกาศแบบทันทีทันใดให้คนรู้มากกว่านั้น เช่น 4-5 ร้อย ไปจนถึงนับพันนับหมื่นคน หรือเป็นข้อมูลสาธารณะที่บอกทุกคนได้ไปเลย อันนั้นมีเครื่องมือที่นิยมกันอยู่แล้ว ตัวหนึ่งที่ดังที่สุดคือ Twitter นะครับ ใครที่เล่นอยู่คงพอรู้ว่าเราสามารถเลือกได้ว่าจะรับฟังหรืออ่านข้อความจากใครบ้างก็ได้ บรรดาคนสำคัญหรือเซเลบ (Celebrity) บางคนมีคนคอยตามฟังหรืออ่านว่าเขาจะพูดอะไรนับล้านคนก็มี โดยคนที่ตามอ่านตามฟังก็อาจตอบกลับได้ด้วย หรือจะคุยกันเองด้วยการส่ง DM หรือข้อความตรง (Direct message) ถึงกันเป็นคู่ๆ ไปได้โดยไม่รบกวนคนอื่นๆ ที่ตามฟังคนเดียวกันอยู่ด้วย

สรุปก็คือเราคงต้องเลือกใช้เครื่องมือให้ถูกกับชนิดของข่าวสารและกลุ่มของผู้รับสารนั่นเองครับ หากใช้แล้วเริ่มติดข้อจำกัดของโปรแกรม ก็ให้ลองมองย้อนมาว่าเราอาจจะ “ใช้เครื่องมือผิดประเภท” แล้วก็ได้