iOS 7 พระเอกตัวจริงของ Apple
ผ่านพ้นกันไปแล้วสำหรับการเปิดตัว iPhone 5s และ 5c กับคุณสมบัติหลายอย่างที่ตรงตามข่าวลือแบบเป๊ะๆ แต่ตอนนี้เรากำลังจะได้พบกับพระเอกตัวจริง ซึ่งเปลี่ยนมากที่สุด และมีผลกับการใช้งานมากที่สุดด้วย ก็คือระบบปฏิบัติการ iOS 7 ซึ่งอุปกรณ์ของแอปเปิลรุ่นใหม่ๆ ตั้งแต่ iPhone 4 และ iPad 2 ขึ้นไปสามารถอัพเกรดได้ ?ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นรุ่นล่าสุดเท่านั้น และ iOS 7 ก็เป็นอะไรที่เปลี่ยนหน้าตา วิธีใช้ รวมถึงการทำงานภายในไปมากที่สุดยิ่งกว่าฮาร์ดแวร์เสียอีก (และคาดว่าน่าจะเป็นพื้นฐานให้กับระบบของแอปเปิลไปอีกหลายปี ถึงแม้ว่าจะมี iPhone 6, 7 ตามออกมาอีก) อาทิเช่น
User Interface (UI) ใหม่
- หน้าตาการดีไซน์ที่ทิ้งรูปแบบของวัตถุจริงออกไปมากมาย หรือที่เรียกกันว่าเป็นแบบ non-skeuomorphism เช่น ตรงที่กดหรือเลื่อนสั่งงานได้บางทีก็ไม่จำเป็นต้องทำรูปปุ่ม ถ้าผู้ใช้ดูออกอยู่แล้ว กระดาษโน้ตก็ไม่จำเป็นต้องมีเส้นบรรทัด เป็นต้น ตามที่ Jonathan Ive ซึ่งเป็น Senior VP ฝ่ายออกแบบและมีผลงานโดนๆ มามากมาย จากทั้งเครื่องแมครุ่นก่อนๆ ที่ไม่เหมือนใคร จนถึง iPhone และ iOS รุ่นล่าสุด ได้บอกไว้ว่า iOS 7 เน้นที่ simplicity ไม่มีเส้นสายอะไรที่รกรุงรังหรือเลียนแบบวัตถุจริงเกินความจำเป็น
- การทำงานพร้อมๆ กันหลายโปรแกรมแบบ true multitasking ที่ยอมให้โปรแกรมทำงานอยู่เบื้องหลังได้โดยไม่จำกัดเฉพาะงานบางอย่างเหมือนใน iOS รุ่นก่อน
- ลักษณะการออกแบบที่เน้นความแบนราบ (flat) เช่น แทนที่จะเป็นปุ่มมีขอบนูนหรือช่องแบบสามมิติ อันนี้เป็นแนวเดียวกันไปหมดแล้วไม่ว่าจะเป็น iOS, Windows 8/Windows Phone หรือ Android เรียกว่าเทรนด์ไปทาง flat UI กันไปหมดตามยุคสมัย
แต่ก็มีบางคนตั้งข้อสันนิษฐานว่าการที่แอปเปิลทำ UI ใหม่โดยใช้เส้นบาง อาจจะหมายถึงว่าเผื่อมันจะกลายเป็นเส้นที่หนาขึ้นอีกนิดใน iPhone รุ่นถัดไปของปีหน้าที่อาจจะมีจอใหญ่ขึ้นอีกนิดนึง เช่น 4.5 นิ้ว (แต่อย่างไรเสียก็คงไม่ขยับไปเกิน 5 นิ้ว หากยังตั้งใจจะรักษาหลักการเดิมที่ให้ iPhone ยังคงเป็นอุปกรณ์ที่ “ใช้สะดวกด้วยมือเดียว” อยู่) ซึ่งแอปเปิลก็พยายามชดเชยข้อจำกัดตรงนี้ด้วยการเพิ่มพื้นที่แสดงผลบนจอให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซ่อนแถบ Status bar ด้านบนในหลายหน้าจอที่ไม่จำเป็น รวมถึงแนะนำให้นักพัฒนาแอพทำตามโดยเอาปุ่มและแถบเมนูในแอพไปซ่อนเสียเมื่อไม่จำเป็นต้องใช้ด้วย ซึ่งทำให้หน้าจอที่เล็กกว่าสมาร์ทโฟนยี่ห้ออื่นๆ ยังสามารถใช้พื้นที่ทั้ง 100% แสดงข้อมูลในโปรแกรมได้เป็นต้น เรียกว่าให้มีเหลือบนจอเท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น (แต่ยังไงเสียมันก็ยังดูรูป ดูหนัง ได้เล็กกว่าชาวบ้านเค้าอยู่ดี 🙁 อันนี้ผู้ใช้คงต้องเลือกว่าจะเอาจอใหญ่ เอื้อมนิ้วไปพิมพ์เอาหน่อย หรือพิมพ์มือเดียวได้คล่องแต่จอเล็ก แต่ความจริงถ้าจะทำให้คีย์บอร์ดมันเล็กกว่าจอ และเลือกได้ว่าจะชิดซ้ายชิดขวามันก็น่าจะได้อยู่นะคร้าบ 🙂
การทำงานภายใน
นอกจากสิ่งที่เห็นภายนอกแล้ว ภายในของ iOS 7 ยังเพิ่มฟังก์ชั่นหรือ API ใหม่ๆ ให้นักพัฒนาสามารถเรียกใช้ได้อีกมากมาย เช่น
- เรื่องของ core motion API ที่เกี่ยวกับการตรวจจับความเคลื่อนไหวที่ละเอียดขึ้น ซึ่งนอกจากจะใช้กับพวกเกมทั้งหลายแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์ทั้งแอพ สุขภาพ ออกกำลังกาย การนอนหลับ ฯลฯ ทั้งหลายที่กำลังมาแรง และรวมไปถึงการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์พวก wearable computer คือพวก gadget ที่สวมใส่ติดตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกา แว่นตา ฯลฯ อีกด้วย
- ฟังก์ชั่นการสแกนลายนิ้วมือ ซึ่งทางแอปเปิลยืนยันว่าจะเข้ารหัสและเก็บในเครื่อง ไม่มีการส่งออกไปที่แอปเปิลหรือแบ็คอัพบน iCloud แต่อย่างใด แต่การใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ ก็คงต้องมี API หรือช่องทางให้นักพัฒนาเรียกใช้ความสามารถนี้ด้วย ซึ่งน่าจะเกิดแอพในรูปแบบใหม่ๆ ตามมาอีกพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทรนด์ของ e-commerce ต่างๆที่จะทำให้เราเสียเงินซื้อของกันจนกระเป๋าฉีกได้ง่ายขึ้น 🙁?
- ความสามารถในการถ่ายรูปและวิดีโอ ที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ น่าจะถูกนำไปใช้ได้มากขึ้นในแอพต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแอปเปิลแถมแอพทั้ง iPhoto และ iMovie มาให้แล้วโดยไม่ต้องไปซื้อเพิ่มต่างหาก ความสามารถนี้จะแยกเป็นสองด้าน ด้านหนึ่งคือการปรับแต่งรูปและใส้ฟิลเตอร์ต่างๆ ในแบบ real-time คือเห็นผลของ filter ตั้งแต่ก่อนถ่ายเลย อีกด้านหนึ่งคือการจัดการรูป แบ่งหมวดหมู่ ประเภท อัลบั้ม เป็นเดือน ปี หรือตามสถานที่ เป็นต้น ซึ่งสะดวกขึ้นในแง่ผู้ใช้ ส่วนในแง่คนทำแอพก็น่าจะมีอะรไๆ ให้ใช้มากกว่าเดิม
ที่เล่ามานี้ก็เป็นแค่น้ำจิ้มของ iOS7 เท่านั้นครับ เพราะอย่างที่แอปเปิลคุยว่ามี API ใหม่ตั้งมากกว่า 1,500 ฟังก์ชั่น แค่นี้นักพัฒนาก็นั่งศึกษาหาทางใช้กันหัวจะแตกแล้ว แต่ก็คงทำให้มีแอพใหม่ๆ ดีๆ ง่ายๆ ออกมาให้เราใช้กันอีกเพียบในไม่ช้า