หนังสือกระดาษ VS อีบุ๊ค คำถามที่ไร้ประโยชน์อีกต่อไป
ผมอยู่ในแวดวงคนทำหนังสือมากว่าสามสิบปี และด้วยแบ็คกราวด์ที่เรียนมาทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ก็อาจจะพูดได้ว่าได้เห็นเทคโนโลยีดิจิตอลมาตั้งแต่เริ่มต้น ก่อนจะมีอินเทอร์เน็ตเสียอีก และตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ได้เห็นปฏิกิริยาของคนทำหนังสือที่มีต่อสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอีบุ๊ค (E-book) ซึ่งเป็นไปในทางไม่ค่อยชอบใจปนสงสัยตลอดมา
คนในวงการหนังสือกลัวกันมากว่ามันจะเข้ามาแย่งตลาดหนังสือกระดาษที่เราคุ้นเคยกัน กลัวกันตั้งแต่เรื่องการถูกก๊อปปี้ เสียตลาดที่ควรได้ ซึ่งก็เป็นข้อที่มีเหตุผลฟังขึ้นในระดับหนึ่ง ต่อมาก็เถียงกันเรื่องว่าอ่านบนกระดาษสบายตากว่า และจับต้องได้ ในขณะที่อีบุ๊คต้องอ่านบนจอคอมพิวเตอร์ยุคนั้น (ซึ่งก็ยังไม่สบายตาจริงๆ น่ะแหละ) พอจอภาพของอุปกรณ์ทั้งหลายละเอียดมากขึ้น นิ่งขึ้น จนสามารถอ่านได้สบายตา แถมอยู่บนแท็บเล็ตที่หยิบจับได้เบากว่าหนังสืออีก ก็เปลี่ยนมาเถียงกันเรื่องความเป็นเจ้าของอีบุ๊คว่าถาวรมั้ย หรือสามารถโอนต่อให้ผู้อื่นได้เหมือนหนังสือเล่มหรือเปล่า หรืออย่างหนึ่งที่มักจะถูกยกมาอ้างถึงบ่อยๆก็เช่นว่าหนังสือมีกลิ่นและสัมผัสที่คุ้นเคย สามารถเปิดดูผ่านๆ (บราวซ์ – browse) ได้สะดวกกว่าอีบุ๊คเป็นต้น
ความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าคำถามประเภทนี้ควรจะเลิกคิดเลิกถามกันได้แล้ว เพราะมันจะทำให้หลงประเด็นไปเป็นว่า “สื่ออะไรกำลังจะเข้ามาแทนที่หนังสือ?” เพราะที่จริงแล้วสิ่งที่จะถูกแทนที่หรือเปลี่ยนไปในอนาคต ไม่ใช่หนังสือกระดาษหรือแม้แต่หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ สิ่งที่กำลังเปลี่ยนไปคือ “กระบวนการ” ในการรับสารหรือเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ของคนยุคใหม่มากกว่า ดังนั้นคำถามที่ถูกจึงควรจะเป็นว่า “คนในยุคหน้าเขาจะรับรู้เรื่องราวต่างๆ อย่างไร?” ซึ่งคำตอบคงไม่ใช่การอ่านตัวหนังสือล้วนๆ อย่างเดียว (ไม่นับการอ่านงานวรรณกรรม) แต่น่าจะเป็นการผสมผสานระหว่างข้อความ (ที่สั้นลง) กับภาพสวยๆ เสียงบรรยายหรือเล่าเรื่อง (เช่นในหนังสือเสียงหรือ audio book) วิดีโอ และอาจรวมถึงการโต้ตอบต่างๆ (interactive – ซึ่งจะนำเสนอได้แต่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น) นอกจากนี้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ยังสามารถสืบค้น (search) ได้ แบบเดียวกับที่เราเสิร์ชจากกูเกิ้ล ทำให้ความจำเป็นที่จะต้องอ่านข้อความบรรยายต่อเนื่องยาวๆ หายไป กลายเป็นเจาะจงค้นหาเฉพาะตรงที่ต้องการรู้หรืออ้างอิงแทน
นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขการเติบโตของอีบุ๊คอาจไม่ได้มากมายอย่างที่หลายๆ คนกลัว แต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไม่น่ากลัว เพราะที่ควรกลัวจริงๆ ไม่ใช่อีบุ๊ค แต่เป็น เฟซบุ๊ค (Facebook) และสื่อสังคมออนไลน์ หรือ social media อย่างอื่นมากกว่า เพราะสื่อเหล่านี้มีหลายรูปแบบ และกระจัดกระจายกันออกไป ทั้ง เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ไลน์ หรือแม้แต่เว็บไซต์ดังๆ ของไทยอย่าง Pantip.com, Dek-D.com, Sanook.comและอื่นๆ อีกหลายเจ้า แต่ที่เหมือนกันก็คือ สิ่งเหล่านี้แย่งเวลา แย่งความสนใจ หรือที่เรามักเล่นสำนวนกันว่า “แย่งสายตา” (eyeball) ของผู้อ่านที่มีเวลาจำกัดในแต่ละวันไปจากการอ่านทั้งหนังสือเล่มและนิตยสารต่างๆ ในสัดส่วนที่สูงจนน่าตกใจ (ลองนึกดูว่าในวันหนึ่งๆ คุณเข้าเฟซบุ๊คกี่หน หรือค้นหาข้อมูลจากห้องต่างๆ ใน Pantip.com หรือจะติดตามเบื้องหลังของดราม่าล่าสุดก็ตาม รวมๆ แล้วนานแค่ไหน เทียบกับเวลาในแต่ละวันที่ใช้กับการอ่านหนังสือเล่มหรือนิตยสาร) แถมในนั้นยังมีข้อมูลในปริมาณและรูปภาพที่มากมายมหาศาลอย่างที่ไม่สามารถหาที่พิมพ์ลงกระดาษเพื่อขายได้ ถึงแม้บางครั้งข้อมูลอาจจะหละหลวม กระจัดกระจาย ไม่ถูกต้องตรงเป๊ะ หรือไม่ได้อัพเดทให้ทันสมัยไปบ้าง แต่แหล่งข้อมูลเหล่านี้แหละที่น่าจะแย่งตลาดของหนังสือ non-fiction ไปได้มากพอสมควร
ลองนึกง่ายๆ ว่าแค่อ่านบทความที่แชร์มาในเฟซบุ๊คหรือไลน์ในแต่ละวัน คุณก็แทบจะไม่มีเวลาอ่านนิตยสารที่ซื้อมากองเป็นตั้งๆ แล้ว ที่หนักกว่านั้นก็คือ บทความเหล่านั้นบางทีก็ถูกคัดย่อมาแสดงแบบอัตโนมัติ และผู้อ่านก็มักจะอ่านเท่าที่คัดมาแสดงโดยไม่คลิกย้อนไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ต้นทางด้วยซ้ำ ถ้าไม่ใช่เว็บดังจริงๆ ทำให้เจ้าของบทความหรือ content ขาดรายได้ไปด้วย เพราะไม่ได้ทั้งจำนวนผู้เข้าชมเว็บที่มากขึ้นพอจะคุ้มค่าดำเนินการ หรือสามารถนำตัวเลขจำนวนผู้ชมไปอ้างอิงหาเพื่อโฆษณามาช่วยค่าทำเว็บ และที่ตามมาก็คือปัญหาว่า ธุรกิจจะดำเนินไปได้อย่างไร ทั้งๆที่บางที่ก็เป็นเพจที่มีเป็นคนไลค์เป็นแสนๆ หรือเฉียดล้านราย หรือเป็นเว็บที่มีคนกดเข้ามาดูจำนวนมากต่อวันก็มี
สรุปก็คือ อย่าไปกลัวเลยครับอีบุ๊ค ที่ควรกลัวคือเฟซบุ๊คและสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่จะแย่งเวลาการอ่านจากลูกค้าไปมากกว่า พอเค้าไม่มีเวลา เค้าก็เลยยังไม่ซื้อหนังสือไปเก็บไว้เฉยๆ เรื่องก็มีอยู่ง่ายๆ (แต่แก้ยาก) ประมาณนี้ ก็เท่านั้นเอง 🙁
Feature Image : Daniel Hofstetter / Schweizerische Bundesbahnen SBB – CC BY-SA 2.0