Nano Edition หรือนี่คือเทรนด์ของวารสารเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ iPad ?

เมื่อวานผมแวะร้านหนังสือในสนามบินฮ่องกง เห็นเทรนด์วารสารหลายหัวมากปรับเล่มเล็กลง บ้างก็เรียกว่าเป็น Nano edition ดูแล้วเหมือนว่าเทรนด์ใหม่วารสารฉบับพิมพ์คือการปรับรูปเล่มให้เล็กลง พกสะดวก และขนาดหน้าใกล้จอ iPad มากขึ้น

ที่จริงวารสาร small size แบบนี้มีทำกันมาก่อนแล้ว แต่ตอนนี้เริ่มเห็นมากขึ้น คาดว่าเตรียมเผื่อแปลงไปลง tablet ขนาด 9 นิ้วเช่น iPad ทั้งนี้การปรับหน้ากระดาษวารสารกับหน้าจอให้ขนาดใกล้กัน มองอีกมุมอาจเป็นอุบายปรับให้ผู้อ่านคุ้นชินกับแบรนด์นั้นในไซส์เล็กที่จะได้เห็นบ่อยขึ้นในอนาคตบนจอ tablet และยังแก้ปัญหาการเอาวารสารในขนาดเดิมลง tablet ที่ทำกันอยู่เดิมด้วย ซึ่งที่ทำกันอยู่มักใช้วีธีย่อทั้งหน้า เช่นเดียวกับการย่อฉบับพิมพ์ ซึ่งถ้าเป็นภาษาอังกฤษ การย่อขนาดวารสารยังอ่านได้สบายบนฉบับพิมพ์ เพราะความละเอียดของการพิมพ์จะสูงมาก (ความละเอียดเม็ดสกรีนสี่สีอยู่ที่ 150-200 จุดต่อนิ้ว) แต่บนจอ tablet ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันความละเอียดยังต่ำอยู่ เช่นประมาณ 100 จุดต่อนิ้ว ซึ่งไม่พอ ทำให้ผู้ใช้อาจต้องคอยซูมเข้าซูมออกตอนอ่าน ที่หนักกว่านั้นคือถ้าเป็นฟอนต์ภาษาไทยซึ่งมีหาง มีขีดเล็กๆ อย่างสระอี กับสระ อือ จะยิ่งอ่านยาก แต่หากปรับลดขนาดลงลงแล้วจัดหน้าใหม่ตามขนาดที่เหมาะสมด้วยเลย ช่วยให้อ่านลื่นไม่ต้องซูม

 

Nano1_resize

อีกจากขนาดหน้าวารสารที่ใกล้กับ tablet เช่น iPad หากเปลี่ยนเป็น digital edition อาจไม่ต้องใส่ลูกเล่นมากมาย และลดภาระการจัดหน้าใหม่ คือแทนที่วารสารฉบับดิจิตอลจะเน้นลูกเล่นเช่น double layout (portrait/landscape) และอื่นๆ ซึ่งบ้างก็สับสน บ้างก็ ok แต่รวมๆ แล้วก็มักจะแย่งความสนใจไปจากสาระหลักที่จะสื่อ ก็น่าทำให้วารสารฉบับดิจิตอล เน้นที่สาระหรือ content เป็นหลักเช่นเดิม แค่เพิ่ม multimedia, link และคุณสมบัติ interactive ต่างๆ เข้ามาตรงที่มีประโยชน์จริงๆ มากกว่า ในความเห็นผมคิดว่าการนำเสนอวารสารดิจิตอลในรูปแบบ “ใช้ effect เพียงเท่าที่จำเป็นและมีประโยชน์จริง” ผู้อ่านน่าจะรับและปรับได้ง่ายกว่าในระยะยาว

 

Nano2_resize