e-book กับจุดจบของสิ่งพิมพ์แบบที่คุณเคยรู้จัก
ที่จริงว่าจะจั่วหัวเป็นภาษาประกิตว่า “e-book and the end of publishing as you know it” แต่เขียนเป็นไทยน่าจะเข้าใจได้ง่ายกว่า หรือหากจะให้แรงหน่อยอาจเขียนเป็น “e-book ส่งเสริมหรือทำลายวงการหนังสือ” แต่เกรงว่าจะแรงไปนิด เอาแค่สะกิดต่อมรับรู้กันพองามละกันนะครับ 😉
ก่อนจะไปถึงเรื่องว่า e-book มีผลกระทบอย่างไรกับวงการหนังสือ คงต้องดูกันก่อนว่า e-book ปัจจุบันหน้าตาอย่างไร มีกี่จำพวก เพราะเดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยมองหรือนึก ถึง e-book บนคอมกันซักเท่าไหร่แล้ว พอพูดขึ้นมาปั๊บก็มักจะนึกถึงบน reading device ทั้งหลายแหล่ เช่น iPad, Kindle, smartphone ที่รวมกันทุกระบบแล้วนับหลายล้านเครื่องในเมืองไทย และบรรดาแท็บเบล็ตระบบ Android ทั้งหลายแหล่ที่จะพาเหรดกันออกมาเต็มตลาดในปีนี้ในราคาที่ถูกจนน่าตกใจ เช่น 3-4 พันบาท เป็นต้น
e-book ที่จะอ่านได้และคาดว่าจะเป็นที่นิยมบนอุปกรณ์เหล่านี้ เท่าที่เห็นอาจจะมีราวๆ สามกลุ่ม (แต่ไม่ได้จำกัดแค่นี้ เพราะยังคงมีคนคิดอะไรใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ) ดังนี้
กลุ่มแรก คือพวกที่มีตัวหนังสือและภาพนิ่งล้วนๆ อย่างที่ Amazon ขายอยู่บน Kindle store, Apple ขายอยู่ใน iBookstore ไม่ว่าจะเป็นภาพสีหรือขาวดำก็ตาม กลุ่มนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการจำลองแบบจากหนังสือเล่มที่เป็นฉบับพิมพ์จริงมาโดยตรงหน้าต่อหน้า ไม่ว่าจะเป็นหนังสือนิยาย วรรณกรรม สารคดี วิชาการ บริหารธุรกิจ ฯลฯ
โดยทั่วไปการแปลงหนังสือกลุ่มนี้เป็น e-book จะมีการเพิ่มความสามารถปรับขนาดฟอนต์ในการแสดงผลให้ใหญ่- เล็กตามหน้าจอหรืออุปกรณ์ที่ใช้ได้ แต่บางทีถ้าเป็นหนังสือที่มีภาพประกอบที่วางแบบสวยงาม ชิดซ้าย ชิดขวา หรือวางข้อความล้อมรูป การปรับฟอนต์ก็พาลทำให้หน้าที่จัดเลย์เอาท์ไว้ดีๆ รวนไปเสียจนอ่านไม่รู้เรื่องก็มี อันนี้นับเป็นข้อจำกัดอันหนึ่งในการแปลงไฟล์ที่จัดหน้าแบบหนังสือให้กลายเป็น e-book ซึ่งไม่ใช่ว่าจะแก้ไขไม่ได้ แต่ต้องจัดการกันอย่างพิถีพิถันหน่อย
กลุ่มที่สอง คือพวกที่เพิ่มมัลติมีเดีย วิดีโอ เสียงประกอบ ฯลฯ เข้าไป เช่นบางภาพแทนที่จะดูภาพนิ่งก็กลายเป็นวิดีโอแทน มีเสียงบรรยายประกอบบางช่วง มีดนตรีประกอบเพื่อสร้างบรรยากาศในการอ่าน ซึ่งเป็นไปได้ทั้งนิยาย (ที่อาจจะต้องสร้างบางฉากเป็นหนังสั้นแบบมิวสิควิดีโอหรือ mv) หรือสารคดีที่ผสมกันระหว่างคำบรรยายกับภาพและเสียง
กลุ่มที่สาม อาจจะเรียกว่ามีพัฒนาการขึ้นไปอีกขั้น จนไม่แน่ใจว่ายังควรจะเรียกว่า e-book, application หรือ game กันแน่ คือกลุ่มที่เพิ่มเอฟเฟ็คต์และความสามารถในการโต้ตอบกับผู้อ่านเข้าไปด้วย เช่นหนังสือนิยายผจญภัยประเภทที่ให้ผู้อ่านเลือกฉากที่จะเล่น (อ่าน) เองได้ หนังสือท่องเที่ยวที่มีแผนที่และข้อมูลสถานที่ต่างๆ สัมพันธ์กับตำแหน่งปัจจุบันของผู้ใช้ เป็นต้น
จากที่เล่ามาจะเห็นว่า ทั้งหนังสือฉบับพิมพ์แบบเดิมและ e-book ในกลุ่มแรกที่เป็นพวก e-book แบบดั้งเดิมหรือ traditional น่าจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิตอลค่อนข้างมาก ด้วยความที่มันมีปริมาณข้อมูลค่อนข้างน้อยและนิ่ง ถ้าเป็นหนังสือเล่มก็อาจถูกสแกน (ความจริงเดี๋ยวนี้ไม่ต้องสแกน แค่ใช้กล้องในมือถือระดับไม่น้อยกว่า 5 ล้านพิกเซลก็ถ่ายชัดจนอ่านได้สบายแล้ว) ถึงแม้จะมีระบบป้องกันที่เรียกว่า DRM (Digital Right Management) ก็ยากจะป้องกันได้ทั่วถึงในระยะยาว (ปัญหาคล้ายกับที่อุตสาหกรรมเพลงเจอมาแล้วและเลิกใช้ DRM ไปในที่สุด แต่วงการหนังยังใช้อยู่) ยิ่งเป็นหนังสือเป็นหน้าๆ พอลงในจอ e-book ยิ่งก๊อปปี้ง่าย แค่ capture หน้าจอก็ได้แล้ว ยิ่งถ้า เนื้อหาหรือ content เป็นแบบข้อความนิ่งๆ เช่น วรรณกรรม ยิ่งมีโอกาสถูกก๊อปปี้ได้มากและไม่มีโอกาสที่จะปล่อย content ใหม่ออกมาทดแทนง่ายๆ เรียกว่าหลุดแล้วหลุดเลย ต่างกับพวกที่เป็นสาระความรู้หรือ non-fiction ที่ยังมีการอัพเดทใหม่ๆ ออกมา ทำให้ content ที่ถูกก๊อปปี้ไปด้อยค่าเพราะล้าสมัยไปตามเวลา
ส่วน e-book พวกที่สองและสามนั้นการผลิตยากขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ขณะเดียวกันก็ก๊อปปี้ได้ยากกว่า ทั้งขนาดไฟล์หรือปริมาณข้อมูลมัลติมีเดียเช่นเสียงและวิดีโอที่มากขึ้นและไม่ได้มีแต่ภาพนิ่ง เมื่อรวมกับการใช้ DRM ก็ให้ผลใกล้เคียงกับที่วงการหนังทำอยู่ (ก็ยังก๊อปปี้ได้แต่ยากขึ้น) และถ้าเป็นแบบที่สามคือ e-book กึ่ง application ยิ่งมีข้อจำกัดทางเทคนิคที่ต้องขึ้นกับการทำงานบนแพลตฟอร์มของแต่ละระบบ (แต่ต้องไม่ลืมว่าแอพเองก็ยังถูกก๊อปอยู่มากพอสมควร)
สรุปแล้วก็คือในยุคดิจิตอล ไม่มีวิธีการใดป้องกันการก๊อปปี้ได้ 100% เพียงแต่ทำอย่างไรคนจึงจะยอมจ่ายเงินซื้อ โดยแลกกับความสะดวกในการค้นหาหนังสือที่ต้องการจากที่มีออกมามากมายหลายหมื่นเล่มต่อปี (เฉพาะภาษาไทย) เช่นเดียวกับที่วง การเพลงทำมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแบบที่ iTunes ของ Apple ขายเพลงในราคาต่ำ (ตามมาตรฐานฝรั่ง) และแยกขายแต่ละเพลง ไม่ใช่ทั้งอัลบั้ม หรือค่ายเพลงของไทยบางรายขายเพลงแบบบุฟเฟ่ต์เหมาจ่ายรายเดือนแล้วโหลดไม่อั้น (ผ่านมือถือ) ซึ่งทั้งสองโมเดลก็เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จมากพอสมควร iTunes store ของ Apple มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% ของการขายเพลงแบบมีลิขสิทธิ์ถูกต้องทั่วโลก ส่วนค่ายเพลงของไทยก็มีรายได้รวม (ที่ต้องไปแบ่งกับผู้ให้บริการมือถืออีกทีหนึ่ง) เดือนละนับร้อยล้านบาท โดยไม่ต้องมีต้นทุนการปั๊มซีดีหรือทำแพ็คเกจบรรจุภัณฑ์ จัดส่งสินค้า ฯลฯ แต่อย่างใดทั้งสิ้น
มีคนถามผมบ่อยๆว่า e-book ในเมืองไทยจะเดินตามรอยต่างประเทศมั้ย มีช่วงห่างแค่ไหน เพราะหลังจากที่ Amazon ร้านออนไลน์ยักษ์ใหญ่ได้ประกาศข่าวช็อคโลกไปเมื่อกลางปี 53 ว่า ณ บัดนี้ได้ขายหนังสือที่เป็นฉบับปกแข็ง (hard cover) ในรูปแบบ e-book มากกว่าเล่มพิมพ์จริงไปแล้ว และที่ช็อคยิ่งกว่านั้นคืออีก 6 เดือนให้หลัง คือปลายปี 53 ยอดขาย e-book ของหนังสือฉบับปกอ่อน (paperback) ก็แซงหน้าฉบับพิมพ์จริงไปด้วยเช่นกัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มาถึงเร็วกว่าที่คาดไว้มาก หลายสำนักพิมพ์ก็เริ่มตื่นตัว ตื่นเต้น ตกใจ กันใหญ่ว่า e-book จะเข้ามาแทนที่การขายหนังสือแบบปกติมากน้อยแค่ไหน บางรายก็พยายามมองหาลู่ทางล่วงหน้าว่าจะปรับตัวอย่างไร ในขณะที่บางรายก็มองว่ายังมีเวลา เพราะการเปลี่ยนแปลงในบ้านเราคงตามหลังต่างประเทศอยู่ระยะหนึ่ง
ในมุมมองของผม การปรับตัวตั้งแต่เดี๋ยวนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่า e-book จะใช้เวลาอีกนานแค่ไหนกว่าจะ แพร่หลายในบ้านเราก็ตาม (ถึงแม้หลายคนที่เริ่มทำอยู่จะบอกว่าทำแล้วขาดทุนก็ตาม เพราะคุณไม่มีทางเลือกอื่น) เพราะเมื่อมันมา มันจะมาแบบสึนามิ คือแทบจะไม่มีการเตือนล่วงหน้า เนื่องจากช่วงห่างหรือแก็ป (gap) ของเทคโนโลยีเดี๋ยวนี้สั้นมาก iPad2 มีขายที่มาบุญครองหลังเปิดตัวใน อเมริกา 4-5 วัน สมาร์ทโฟนทั้งหลายที่ใช้อ่าน e-book ได้มีราคาถูกลงเหลือ 5-6 พันบาทแล้วในระบบ Android และจะลงไปอีก ในขณะที่ tablet จะมีราคาถูกกว่านั้น เช่นรุ่นที่มีแต่ wi-fi (ไม่สามารถต่อเน็ตผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือได้) ดังนั้นมันอาจกลายเป็นอุปกรณ์ที่ใครๆ ก็มีได้เช่นเดียวกับมือถือ และราคาน่าจะลงจนถูกกว่าโน้ตบุ๊คหรือเน็ตบุ๊คเสียอีก ขาดก็แต่ content ภาษาไทยที่จะอ่านบนอุปกรณ์เหล่านั้น ซึ่งเริ่มจากสื่อการเรียนการสอนที่หลายสถาบันเริ่มเตรียมส่งออกมาในรูป e-book เพราะลดต้นทุนการพิมพ์และสต็อค รวมทั้งการแจก tablet ให้นักศึกษาใช้กันทุกคน สิ่งเหล่านี้จะเร่งให้การเปลี่ยนผ่านสู่ e-book เป็นไปอย่างเร็วขึ้น ดังนั้นคุณต้องปรับตัวตั้งแต่เมื่อวาน ไม่ใช่วันนี้ ไม่งั้นอาจไม่ทันเพราะมันจะมาเย็นนี้ ไม่ใช่พรุ่งนี้ 😉 พูดจริงๆ นะครับ ไม่ได้ขู่นะจะบอกให้
ใครที่มองว่าเรายังมีเวลาโดยรอดูประเทศอื่นๆอย่างอเมริกาหรือยุโรป ผมมีข้อสังเกตจากฝรั่งบางคนที่เคยเป็นผู้บริหารธุรกิจสิ่งพิมพ์ในจีนและญี่ปุ่นมาเล่าให้ฟัง เขาบอกว่าบางทีเอเซียอาจจะไป e-book ได้ง่ายกว่าหรือเร็วกว่าทางตะวันตกก็ได้ เพราะทางเอเซียมีอัตราการใช้อุปกรณ์ mobile สูงกว่ามาก เช่นเมืองไทยมีมือถือเฉลี่ยคนละ 1.2 เบอร์ นี่นับรวมเด็กเล็กและคนชราแล้ว (ถ้าหักตัวหารที่เป็นคนเหล่านั้นออก ค่าเฉลี่ยอาจจะเพิ่มขึ้นถึงคนละ 2 เบอร์!) และมีความคุ้นเคยกับการอ่านจากหน้าจอมากกว่าทางตะวันตก ซึ่งมีความเคยชินกับการอ่านบนกระดาษมานานกว่า และยึดติดกับหนังสือในรูปแบบเดิมๆ มากกว่า ลองดูรถไฟใต้ดินในญี่ปุ่นหรือเกาหลี จะเห็นว่าปัจจุบันนี้คนขึ้นมาปุ๊บก็เปิดมือถืออ่าน ไม่แช็ทก็เฟซบุ๊คหรือไม่ก็อ่านการ์ตูน อ่านข่าว แทนที่จะหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านแบบเมื่อก่อน อันนี้ก็เป็นข้อสังเกตส่วนตัวนะครับ ลองใช้วิจารณญานของแต่ละคนคิดตามดู
ส่วนเมื่อคิดเรื่องการปรับตัวแล้ว ก็คงจะมีคำถามตามมาว่าสำนักพิมพ์ควรปรับตัวอย่างไรถึงจะพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิตอล รวมถึงผลกระทบว่ายอดขายของหนังสือเล่มจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากน้อยแค่ไหน อย่างไร อันนั้นคงเป็นเรื่องยาวที่จะเขียนเล่าให้ฟังในตอนถัดๆไปครับ