ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับ e-book (3)
3. E-book จะมีความสามารถในการทำ interactive กับผู้อ่านได้มากขึ้น
ข้อนี้ก็จริงแค่บางส่วน เพราะการทำ interactive ต้องอาศัยความสามารถในการพัฒนาเนื้อหาไปพร้อมๆกับการใช้ความสามารถของซอฟต์แวร์สร้าง e-book แต่สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่ทำหนังสือเล่ม อาจคุ้นเคยกับการสร้างภาพและตัวหนังสือนิ่งๆ เป็นหลัก การทำ interactive ให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ การถ่ายวิดีโอ ใส่เสียงประกอบ ฯลฯ อาจกลายเป็นหน้าที่ของผู้เขียนที่จะต้องคิดเตรียมมาตั้งแต่ต้นทาง แล้วใช้เครื่องมือง่ายๆ ทำเองเลย เช่น iBooks Author ในแพลทฟอร์มระบบ iOS ของ Apple มากกว่า
4. E-book จะมีหน้าตาสวย และลูกเล่นแบบ e-magazine
อันนี้ในอนาคตน่าจะได้เหมือนๆกันหมดครับ ส่วนในปัจจุบันก็แล้วแต่ฟอร์แมทของร้านออนไลน์แต่ละแห่ง ถ้าเป็นร้านออนไลน์ของไทยส่วนใหญ่จะจัดหน้าสวยเหมือนหนังสือ คือหน้าต่อหน้า เพราะร้านออนไลน์บ้านนิยมแปลงไฟล์ที่สำนักพิมพ์ส่งมาให้ในรูปแบบ PDF มาเป็น e-book โดยตรงหน้าต่อหน้า ก็เลยได้สวยเท่าหนังสือเล่มฉบับพิมพ์ แต่ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ซึ่งการทำแบบนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือหน้าต่อหน้าอ้างอิงได้ตรงกับฉบับพิมพ์ การจัดรูปแบบของข้อความในแต่ละหน้าก็อยู่ครบ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งของรูปและข้อความ แต่ข้อเสียคือไม่สามารถปรับขนาดฟอนต์ให้ตัวใหญ่หรือเล็ก แล้วให้มีการจัดข้อความใหม่ตามขนาดอักษรที่เลือก (reflow text) ได้ ต้องใช้การซูมเข้าออกทั้งหน้าเท้านั้น ต่างกับฟอร์แมทของต่างประเทศอย่าง Amazon ที่เดิมใช้แบบข้อความลื่นไหลไปกับภาพ ทำให้ปรับขนาดอักษรให้อ่านสะดวกตามความชอบแต่ละคนได้ ซึ่งเหมาะกัับหนังสือที่ข้อความเยอะ ไม่เน้นภาพ และไม่ fix ตำแหน่งภาพว่าต้องอยู่ตรงกับข้อความ แต่ถ้าเป็นหนังสือที่มีภาพเป็นหลักจะดูยากมากและไม่น่าอ่านเลย
อันนี้คงต้องรอมาตรฐานใหม่ๆ ที่เพิ่งประกาศใช้ เช่น epub 3 ซึ่งจะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ แต่ก็ต้องอาศัยเครื่องมือจัดหน้าเช่น Adobe InDesign เวอร์ชั่นใหม่ๆ หรือ Apple iBooks Author แถมฟอร์แมทที่เอาไปใช้กันจริงๆ ก็เป็น อะไรที่ based-on แต่ไม่ใช่ fully compatible กับ epub 3 เสียอีก ไม่ว่าจะเป็นฟอร์แมทของ iBooks Author หรือ Amazon Kindle ตัวใหม่ก็ตาม แปลว่าเวลาจัดหน้าแล้วอาจมีการขยับหน้าตำแหน่งไปได้ ขึ้นกับความ compatible ของเครื่องมือด้านซอฟต์แวร์ที่ใช้ แถมยังต้องแปลงกันใหม่ ตรวจสอบและปรับแก้ต่างหากสำหรับแต่ละฟอร์แมทอีก น่าปวดหัวมิใช่น้อยเลย ;(
5. DRM สามารถป้องกันการก๊อปปี้ e-book ได้เกือบ 100%
อันนี้ใครที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์มาบ้างน่าจะพอบอกได้ด้วย sense แล้วว่ามันไม่จริง ป้องกันได้ก็แกะได้ เพียงแต่ความสะดวกยากง่ายแค่ไหนเท่านั้น คือผู้ใช้ทั่วๆไปอาจไม่ทำ แต่ถ้าเป็นนัก crack มือดีๆก็คงทำได้ไม่ยาก แต่ที่สำคัญผมว่าต้องเข้าใจก่อนว่าทุกอุปกรณ์สามารถ capture screen ได้ แถมความละเอียดหน้าจอก็สูงขึ้นทุกที ดังนั้นถ้า capture หน้าจอหนังสือไปทีละหน้าโดยการกดเพียงไม่กี่ปุ่ม จะเร็วและง่ายกว่าการเอาหนังสือเล่มไปถ่ายเอกสารเสียอีก อันนี้เป็นความสามารถในตัวระบบปฏิบัติการทั้งค่าย Android และ iOS จึงป้องกันได้ยาก ดังนั้นการป้องกันด้วย DRM จึงช่วยได้แค่บางส่วนเท่านั้น ยิ่งถ้าหนังสือ e-book ของคุณเป็นแบบ PDF ที่พูดถึงในหัวข้อก่อน คือมีรูปแบบหน้าต่อหน้าเหมือนฉบับพิมพ์ ก็ยิ่งสะดวกในการก๊อปปี้หน้าต่อหน้าไปใหญ่ แต่ถ้าเป็นพวก e-magazine ที่มีลูกเล่นหมุนแนวนอนอย่างแนวตั้งอีกอย่าง หรือเลื่อนอ่านขึ้นลงเฉพาะแต่ละบทความ คือไม่ได้เรียงหน้าต่อหน้าแบบฉบับพิมพ์ แถมมี interactive หรือมัลติมีเดียฝังมาด้วย อันนี้จะก๊อปปี้หน้าจอลำบากกว่า
สรุปคือการป้องกันในโลกนี้ไม่มีอะไร 100% ทำอย่างไรให้ผู้ใช้อ่านสะดวก และยอมจ่ายเงินซื้อน่าจะเป็นวิธีตอบโจทย์ที่ดีกว่า เรื่องนี้คงไม่มีทางออกที่ตายตัว เหมือนอย่างเพลงที่ขายกันบนเน็ตตอนนี้ก็เลิกระบบ DRM หมดแล้ว ในขณะที่ภาพยนตร์ที่ขายบนเน็ตยังใช้ DRM กันอยู่ คำถามคือแล้วหนังสือจะใช้แบบไหน แต่ละร้านออนไลน์ แต่ละสำนักพิมพ์คงต้องไปหาคำตอบเองครับ