“Curation” is the King ? เมื่อ content ตกกระป๋อง!

นานมาแล้วที่เราคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า ?Content is the King? ยิ่งที่ในยุคที่ e-book กำลังจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นและอาจทดแทนหนังสือเล่มได้ในระดับหนึ่ง เหมือนกับที่เว็บข่าวได้กลายเป็นสื่อกระแสหลัก ทดแทนหนังสือพิมพ์ได้ในระดับหนึ่ง ประโยคข้างต้นก็เลยกลายเป็นเหมือนคาถาที่หลายสำนักพิมพ์เอาไว้ท่องปลอบใจตัวเองว่า ถึงยังไงถ้าเป็นเจ้าของ นอนกอด content เอาไว้เสียอย่าง ไม่ว่าสื่อที่นำเสนอไปสู่ผู้อ่านจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในรูปแบบสิ่งพิมพ์หรือรูปแบบอิเล็กทรอนิคส์ก็ตาม สำนักพิมพ์หรือ publisher ก็ยังมีอนาคตที่สดใสอยู่ดี เพราะมี content อยู่ในมือ

YouTube home page

หน้าจอ YouTube แหล่งรวมวิดีโอที่มีมากกว่าร้อยล้านคลิป

แต่วันนี้ผมกำลังจะบอกคุณว่า ประโยคข้างต้นนั้นไม่ได้เป็นจริงเสมอไป เพราะการที่ content หรือเนื้อหาสาระต่างๆ ที่ผู้อ่านต้องการเสพย์ ไม่ว่าจะด้วยการอ่าน รับชม หรือรับฟังก็ตาม จะมีบทบาทสำคัญที่สุดได้นั้นก็ต่อเมื่อเนื้อหาสาระอย่างเดียวกันนั้น หาทดแทนไม่ได้จากที่อื่น หรือหาได้ไม่มาก มีตัวเลือกที่จำกัด ไม่ใช่มีกลาดเกลื่อนมากมายจนไม่รู้อะไรดีอะไรมั่ว แต่ในปัจจุบันนี้เมื่อเทคโนโลยีอำนวยให้ใครๆก็สามารถสร้าง content ได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเขียน Blog ด้วย WordPress, ถ่ายรูปแล้วนำขึ้นไปแชร์บน Flickr หรือ Instagram, ถ่ายวิดีโอด้วยมือถือแล้วแชร์ขึ้น YouTube และอื่นๆ อีกมาก ทำให้เรามาถึงยุคที่มี content เหลือเฟือ หรือบางทีบางเรื่องอาจจะมากเกินต้องการเสียด้วยซ้ำ

หลายคนอาจจะเถียงว่า content ที่ดีๆ นั้นยังมีน้อยอยู่เมื่อเทียบกับ content ขยะบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็อาจเป็นจริงในบางเรื่องบางมุม และนั่นก็นำไปสู่คำถามที่ว่า แล้วผู้ใช้ทั่วไปจะรู้ได้อย่างไรว่า อะไรดี อะไรจริง อะไร fake หรืออะไร ?กากๆ? (ขออนุญาตใช้ภาษาทันสมัยกะเค้าบ้างนะครับ) นั่นแหละครับคือเหตุผลที่ว่าทำไม content ถึงตกอันดับลงมาเป็นแค่พระรองเท่านั้น ไม่ใช่พระเอกอย่างที่เคย เพราะคนที่จะชี้เป็นชี้ตายให้กับ content ว่าจะได้เกิดหรือไม่ ส่วนหนึ่งก็คือคนที่เป็นคนคัดสรร รวบรวม หรือช่วยอำนวยให้การค้นหา content ที่ผู้ใช้ต้องการเป็นไปได้สะดวก ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหน้าที่ในการคัดสรรรวบรวมหรือกลั่นกรอง ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า ?curation? นั่นเอง ตัวอย่างเช่น YouTube นอกจากจะเป็นแหล่งจัดเก็บวิดีโอแล้ว ยังช่วยในการค้นหา แนะนำ จัดอันดับความนิยม ฯลฯ ให้กับวิดีโอทั้งหมดนับร้อยล้านคลิป หรือร้านออนไลน์อย่าง Amazon ก็มีกลไกต่างๆ เช่น wish list (รายชื่อที่ลูกค้าสนใจ), recommendation (รายชื่อแนะนำ) ทำนองว่าคนที่สนใจหนังสือหรือสินค้าแบบเดียวกับคุณเค้าสนอะไรอย่างอื่น (ที่คุณน่าจะสนใจเหมือนกัน) หรือแม้แต่ร้านออนไลน์ที่ขายแอพพลิเคชั่นบนมือถือหรือ AppStore ในระบบต่างๆ ก็ต้องมีรายชื่อแอพที่ติดอันดับขายดี (Top หรือ Bestsellers), รายชื่อแอพที่ใหม่หรือน่าสนใจ (News & Noteworthy) และอื่นๆ ซึ่งผลิตภัณฑ์ตัวใดได้เข้าอันดับนี้ก็รู้สึกว่าจะมาแรง ผู้ใช้ค่อนข้างจะมั่นใจที่จะซื้อมากกว่าผลิตภัณฑ์ไร้อันดับ นั่นยิ่งทำให้เห็นว่าการคัดสรรและนำเสนอยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นไปอีก (ถ้าจะมองที่รากศัพท์ curator หรือผู้ที่ทำหน้าที่นี้เราแปลเป็นไทยว่า ?ภัณฑารักษ์? หรือผู้ที่คอยดูแลพิพิธภัณฑ์นั่นเอง)

Apple AppStore

หน้าจอ AppStore จากโปรแกนม iTunes ของ Apple

พร้อมกับการมี content มากมายเหลือเฟือ อีกสิ่งหนึ่งที่ตามมาก็คือแนวโน้มการใช้งานที่เน้นการ ?เข้าถึง? หรือ ?เข้าใช้งาน? (Access) มากกว่าการ ?เข้าครอบครอง? เป็นเจ้าของ (Ownership) ตัวอย่างเช่น สมัยหนึ่งเราเคยพยายามใช้โปรแกรมดูดเว็บทั้งเว็บมาเก็บในเครื่องไว้อ่านแบบออฟไลน์ แต่หลังๆ แนวคิด็เปลี่ยนมาเป็นเพียงการเก็บรายชื่อเข้า bookmark หรือเก็บเป็นรายการ favorite เอาไว้เท่านั้น วงการเพลงก็เช่นกัน ในบ้านเรามีค่ายเพลงที่ให้บริการโหลดไม่อั้นโดยเก็บค่าบริการรายเดือน แต่ก็ไม่ยักกะมีใครพยายามโหลดเพลงไปเก็บไว้ทั้งหมดในคราวเดียว เพราะไม่จำเป็น คือคุณจะโหลดมาฟังเฉพาะที่ต้องการเมื่อไหร่หรือเท่าไหร่ก็ได้ (ไม่เปลืองที่เก็บมาก) ตราบเท่าที่ยังจ่ายค่าสมาชิกรายเดือนอยู่

จากแนวโน้มข้างต้นนี่เองที่นำเรากลับมาสู่ประเด็นที่ว่า ?Curation is the (new) King? คือในอนาคตข้างหน้า คนที่รวบรวมคัดสรร content นั่นแหละเป็นพระเอกตัวจริง ดูตัวอย่างไม่ต้องอื่นไกล แม้แต่บริการอย่าง Google ที่ช่วยค้นหาข้อมูลจนร่ำรวยทะลุฟ้า ก็เริ่มมาจากการที่ไม่ได้มี content ของตัวเองมากนัก แต่มีบทบาทสำคัญก็เพราะเป็นผู้ที่เชื่อมโยงให้ผู้สร้าง ผู้ขาย และผู้ที่ต้องการซื้อ content ได้มาพบกันโดยสะดวก รวมไปถึงการจัดรูปแบบข้อมูลให้สะดวกในการอ่านหรือค้นคว้าเท่านั้น

ทั้งหมดนี้คงไม่ถึงกับฟันธงลงไปเลยว่า content จะไม่สำคัญอีกต่อไป เพราะถ้าไม่มี content เป็นพระรอง curation ก็จะเป็นพระเอกไม่ได้เพราะไม่มีอะไรให้คัดสรร แต่เป็นเพียงข้อสังเกตที่อยากฝากไว้ให้คิดกันเล่นๆ เท่านั้นว่า ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทุกวันนี้มีอะไรให้อ่าน ให้ดู ให้ฟัง มากมาย การจะบอกชัดๆ ว่าอะไรจะเกิดหรือไม่เกิด อะไร ?โดน? หรือไม่โดน หรือแค่เพียงช่วยหรือมีบทบาทในการบอกหรือแนะนำนั้นก็ยากพอสมควรแล้ว คนที่มีกำลังพอจะทำได้ในสเกลขนาดใหญ่ (ไม่นับผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำแนะนำเฉพาะทางในเรื่องที่ตัวเองถนัดอย่างพวก blogger ทั้งหลาย) ถ้าไม่ใช่เจ้าของ content เองอย่างค่ายเพลงในเมืองไทย (ที่มีไม่กี่ราย จึงมี content อยู่ในมือมากพอ) ก็เหลือแต่ยักษ์ใหญ่ในด้าน e-business ระดับโลกเท่านั้นที่พอจะมีกำลังทำได้

แล้วผู้ประกอบการ e-business ของไทยจะไปอยู่ตรงไหนในภาพดังกล่าวนี้ ? และในทำนองเดียวกัน เจ้าของ content รายกลางหรือรายย่อยทั้งหลายที่ไม่ได้มีจำนวน content มากมายมหาศาล เช่นสำนักพิมพ์ขนาดกลางหรือขนาดเล็ก จะทำอย่างไรให้ content ของตัวเองฝ่าด่านของบรรดา curator เหล่านี้ขึ้นไปลืมตาอ้าปากให้ผู้ใช้ได้เห็นกันมากพอที่จะอยู่ได้ ? ดูเหมือนจะยังมีอีกหลายคำถามที่รอคำตอบอยู่?

2 replies
  1. kokoyadi
    kokoyadi says:

    เยี่ยมไปเลยครับ
    curation ต้องรู้จักจัดการ content ในรูปแบบที่ดี เหมาะสม และทันสมัยด้วยครับ

  2. noodea
    noodea says:

    เยี่ยมครัย…กำลังค้นหาความหมายของการ curation อยู่เลย..
    ช่วงนี้ในวงการ internet marketing ก้อกำลังสนใจเรื่องนี้กันมาก

Comments are closed.