การโคจรมาอีกครั้งของ “สถาบันสถาปนา” และวรรณกรรม วิทยาศาสตร์
[บทความนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์ “จุดประกายวรรณกรรม” ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545]
ในจินตนาการที่ไร้ขอบเขต
โลกของวรรณกรรมวิทยาศาสตร์
น่าพิศวง และตื่นเต้นเร้าใจ
ณ วันนี้มันได้หวนกลับมาอีกครั้ง
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ ชั่วโมงนี้เวลานี้ประชาชนคนไทยเริ่มมีแนวโน้มการบริโภคหนังสือเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
และในยุคสมัยที่คอมพิวเตอร์และไฮเทคโนโลยีประเภทต่างๆ เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตมากขึ้น หนังสืออีกประเภทหนึ่งที่นับวันจะมีนักอ่านหันมาให้ความสนใจมากขึ้นทุกขณะ และเข้ามาตีตลาดหนังสือในเมืองไทยอยู่ในขณะนี้ ก็คือหนังสือแนว นิยายวิทยาศาสตร์แฟนตาซี
หนังสือแนววิทยาศาสตร์แฟนตาซีนั้น ทั้งเรื่องสั้นและนวนิยาย ใช่ว่าเพิ่งจะมาได้รับความที่นิยมตามกระแส แฮร์รี พอตเตอร์, เดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริง ที่กำลังกระตุ้นตลาดงานแปลให้กระพือโหมเหมือนไฟลุกลามทุ่งยามหน้าแล้งเช่นเวลาในนี้ หากแต่นิยายวิทยาศาสตร์แฟนตาซีอยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลานานมาตั้งแต่ยุคเก่าก่อนแล้ว เพียงแต่ไม่ปรากฏสู่วงกว้างให้เห็นเด่นชัดเท่าไหร่นักเท่านั้นเอง
ในบางยุคสมัยนิยายวิทยาศาสตร์ก็แทบโดนบดบังจากรัศมีของวรรณกรรมประเภทอื่นที่เข้ามาเป็นที่นิยมในช่วงนั้น จนแทบไม่มีการเยี่ยมหน้ามาให้เห็น กระนั้นด้วยสาระความน่าสนใจจากการใช้เทคนิคแนวทดลองกับสิ่งของแปลกใหม่ ก็ทำให้วรรณกรรมประเภทนี้มีเสน่ห์ และสามารถยืนหยัดคู่สังคมไทยมาได้โดยตลอดรอดฝั่ง
รวมทั้งการถ่ายทอดออกมาในรูปสื่ออื่นๆ อาทิ เป็นภาพยนตร์, หนังสือการ์ตูนภาพ,เกมคอมพิวเตอร์,อินเตอร์เนต, ภาพยนตร์การ์ตูน ฯลฯ ซึ่งก็ล้วนได้รับความนิยมมาทุกยุคทุกสมัย
งานเขียนและสื่ออื่นๆประเภทวิทยาศาสตร์แฟนตาซีนั้น มีหลากหลายและมีคนอ่านคนดูอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันยังหลั่งไหลมาสู่สังคมไทยอย่างต่อเนื่อง และมีหลายคนทีเดียวที่ตกหลุมรัก เช่น โดเรมอน เจ้าแมวหุ่นยนต์มหัศจรรย์จากโลกอนาคต สัญชาติญี่ปุ่น ที่มีอุปกรณ์ไฮเทคจำนวนมากบรรจุอยู่ในถุงวิเศษที่หน้าท้อง เอาไว้ล้วงออกมาใช้ท่องโลกวิทยาศาสตร์สุดท้าทาย หรืออย่างหนังน่ารักอย่างเรื่อง อี.ที.ที่สามารถจะตรึงใจคนทั่วทั้งโลก รวมทั้งความตื่นตาตื่นใจที่เกิดขึ้นกับคนบนโลกใบนี้ด้วยหนัง Star Wars มหากาพย์แห่งสงครามอวกาศ และอีกมากมายหลายเรื่องทั้งเก่าและใหม่เกินกว่าจะบรรยายได้หมด
เรื่องที่ได้รับความนิยมในเมืองไทยส่วนใหญ่สังเกตได้ว่าเป็นเรื่องที่แปลจากของต่างประเทศมาเป้นส่วนมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่โด่งดังมีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้วแทบทั้งสิ้น แต่ในส่วนของผลงานของนักเขียนไทยพันธุ์แท้นั้น ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน เพียงแต่จะหาที่ได้รับความนิยมในระดับโลกอย่างของฝรั่งนั้นค่อนข้างจะหายากอยู่ ยกเว้น เอส.พี สมเถา นักเขียนไทยคนหนึ่งเท่านั้น ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษและมีผลงานโด่งดังระดับโลกอยู่ในต่างประเทศ
สำหรับนักเขียนไทยแท้นั้น หนึ่งในจำนวนนักเขียนแนวนี้ที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง ก็คือ จันตรี ศิริบุญรอด นักเขียนแนววิทยาศาสตร์ชื่อดังในอดีตผู้เปรียบเสมือนนั่นเอง
นอกจากนี้แล้ว ในยุคอดีตก็เคยมีหัสนิยายชิ้นเยี่ยมของ ป.อิทรปาลิต ชุด “สามเกลอ พล-นิกร-กิมหงวน” หลายตอนทีเดียวที่แต่งออกแนววิทยาศาสตร์ทดลอง มีตัวละครทั้งหุ่นยนต์, มนุษย์อวกาศ, การย้อนเวลาไปยุคไดโนเสาร์, การล่องหนหายตัว, การประดิษฐ์อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์แปลกๆ ที่ไม่เคยมี จนทำให้ผู้อ่านติดอกติดใจอย่างมากในยุคนั้น
หรืออย่างทุกวันนี้ก็ยังมีนิยายของ ‘แก้วเก้า‘ ที่เขียนออกแนววิทยาศาสตร์อยู่หลายเรื่อง เช่น “นิรมิตร” ที่ให้คนสามารถวาดรูปแล้วเกิดเป็นคนจริงๆ ขึ้นมาได้ รวมทั้งนักเขียนยุคปัจจุบันนี้อีกหลายคนที่กำลังมุ่งมั่นผลิตผลงานแนวนี้อย่างต่อเนื่องจริงจัง อาทิ ชัยวัฒน์ คุประตกุล, นิรันศักดิ์ บุญจันทร์, ณัฐ ศาสตร์ส่องวิทย์, วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์, วินทร์ เลียววาริณ,สมภพ นิลกำแหง ฯลฯ
หรืออย่างล่าสุดก็มีการพิมพ์ผลงานจากเด็กรุ่นใหม่วัย 17 ปี เรื่อง “เดอะ ไวน์โรด” ของ ‘ดร.ป๊อป‘ โดยได้รับการตอบรับอย่างดีจนต้องพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ในเวลาอันรวดเร็ว
หรือไม่ว่าจะเป็น ปราบดา หยุ่น เขียนนิยายเรื่องแรกชื่อ “ชิทแตก” ที่ดำเนินเรื่องโดยใช้เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ปี 2666
และ วิมล ไทรนิ่มนวล เขียนเรื่อง “อมตะ” ที่มีเนื้อหาการโคลนนิงมนุษย์ จนได้รับรางวัลซีไรต์ในปี 2543 เป็นต้น
โดยภาพรวมแล้วถึงแม้ว่าตลาดนิยายวิทยาศาสตร์กำลังกระเตื้องขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่โดยมากแล้วยอดขายก็ยังตกอยู่ที่นิยายแปลจากต่างประเทศเสียเป็นส่วนมาก ส่วนผลงานของคนไทยที่ขายดีมักจะเป็นงานแนวอื่นมากกว่า
ทนง โชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการ บ.ซีเอ็ด ยูเคชั่น กล่าวถึงแนวโน้มการบริโภคหนังสือวิทยาศาสตร์ว่า ธุรกิจหนังสือยังสดใส สังเกตได้จากนับตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำเป็นต้นมา หนังสือเป็นธุรกิจเพียง 1 ใน 2 ธุรกิจที่เติบโตได้ด้วยตัวเลขสองหลัก (หลักสิบ)
สาเหตุเพราะ หนึ่ง คนขายหนังสือเก่งขึ้นมาก สอง คือ กำแพงกั้นการนำหนังสือไปสู่ผู้อ่านถูกทลายลงไปมากแล้วด้วยระบบสาขาร้านหนังสือที่เข้มแข็ง สาม คือ มีหนังสือใหม่ๆ พิมพ์ออกมาเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรเสียในจำนวนหนังสือประมาณ 2 หมื่นเล่มที่กำลังออกมาใหม่นี้ มีที่เป็นหนังสือวิทยาศาสตร์จริงๆ เพียง 200 เล่มเท่านั้น เพราะมันยังขายไม่ค่อยได้เขาก็ไม่อยากรับไปวางขาย
ดังนั้น จึงนำไปสู่การตั้งโจทย์ที่ว่า ทำอย่างไรนิยายวิทยาศาสตร์ของไทยจึงจะได้รับความนิยมจากคนไทยด้วยกันได้
“หนังสือวิทยาศาสตร์เกิดได้แน่นอน แต่ต้องมีคนที่มีความศรัทธาทำให้มันเกิด ขอให้ทำกันจริงๆ จังๆ รวมทั้งการนำปัจจัยสนับสนุนอื่นมาประกอบด้วย เช่น การทำตลาด การพิมพ์จำหน่าย การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ผมว่าหนังสือวิทยาศาสตร์จะประสบความสำเร็จแน่” ทนง กล่าว
“ที่ผ่านมาเอ่ยถึงหนังสือวิทยาศาสตร์มักจะนึกถึงหนังสือที่เป็นวิชาการที่เนื้อหาค่อนข้างหนัก อ่านยาก จึงไม่มีใครอยากหยิบอ่านนัก เราน่าจะทำหนังสือที่อ่านแล้วสนุกไม่หนักเกินไป และมีสาระด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนอ่านหนังสือแนววิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น” รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล กล่าวสนับสนุน
เช่นเดียวกับ พ.ต.ต.ดร.วิวิฒน์ สิทธิสรเดช บรรณาธิการวารสารวิทยาศาสตร์ ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า
“เยาวชนทุกวันนี้ถ้าไม่ใช่หนังสือที่ไม่ได้เกี่ยวกับการสอบแล้ว เขาแทบจะไม่แตะกันเลยทีเดียว ผมจึงหวังว่า หนังสือนิยายจะเป็นตัวจุดประกายความสนใจของเยาวชน โดยอาจจะเริ่มจากนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีเนื้อหาเบาๆ สนุก อันนี้เขาจะรับได้เร็วกว่า เพราะได้ความบันเทิงไปด้วยเป็นจุดสำคัญ และสาระที่สอดแทรกมาก็จะรับไปเองโดยไม่ต่อต้าน”
ส่วนการกระตุ้นเตือนให้คนหันมาสนใจการอ่านวรรณกรรมแนววิทยาศาสตร์ ในฐานะเป็นวรรณกรรมที่นอกจากจะให้ความเพลิดเพลินแล้วยังประกอบด้วยสาระและจินตนาการนั้น ประภาศรี เทียนประเสริฐ อดีตประธานชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.) เสนอว่า
ที่ผ่านมาเราไม่มีการทำกิจกรรมส่งเสริมให้คนทำอะไรที่ต่อเนื่องกันไป “คนไทยทำอะไรเหมือนไฟไหม้ฟาง” บางอย่างทำไปเป็นกระแสเพียงชั่ววูบเดียวก็เงียบหาย ดังนั้น การที่จะส่งเสริมนิยายและหนังสือวิทยาศาสตร์นั้น จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีนิสัยรักการอ่านอย่างต่อเนื่อง
ถ้าทำได้หนังสือวิทยาศาสตร์ไทยไม่มีวันที่จะตกหล่ม และตอนนี้ทางลมบอกว่าตอนนี้นิยายวิทยาศาสตร์กำลังมาดีแล้ว
ขึ้นอยู่กับผู้กุมบังเหียนว่าจะมีแรงพอที่จะส่งให้มันลิ่วลมต่อไปได้จนถึงที่หัวแถว หรืออย่างน้อยพอเกาะไปกับกลุ่มใหญ่เขาได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่