ขนาด 800x600 pixels

กว่าจะมาเป็น “สถาบันสถาปนา”

โดย : วศิน เพิ่มทรัพย์

ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์ชุดโลกอนาคต : สถาบันสถาปนา ที่แปลจากผลงานของ ดร.ไอแซค อาซิมอฟ (เรียกให้เต็มยศหน่อย) ครั้งแรกที่แปลโดย บรรยงก์ เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ซึ่งในครั้งนั้นมี 3 เล่ม เรียกว่าเป็นไตรภาค (Trilogy) คือ สถาบันสถาปนา, สถาบันสถาปนาและจักรวรรดิ และ สถาบันสถาปนาแห่งที่สอง และพบว่านอกจากจะวางไม่ลงแล้วยังเป็นหนังสือที่กระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น และเกิดแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นไปของโลกและจักรวาลโดยรวมเป็นอย่างมาก

หนังสือเล่มนี้ได้จัดพิมพ์กันมาหลายครั้ง ตั้งแต่โดย สำนักพิมพ์คอลเลจบุ๊คส์ ออบิท และอื่นๆ แต่ก็ขาดตลาดไปนาน ในการนำกลับมาพิมพ์ใหม่ครั้งนี้ จึงใคร่ขอถือโอกาสรวบรวมเรื่องราวที่ผู้อ่านควรทราบเกี่ยวกับหนังสือชุดนี้ และผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มาเล่าสู่กันฟัง

อาซิมอฟเขียนหนังสือเล่มนี้ในครั้งแรกไม่ได้เป็นเล่มๆ แบบที่เราเห็น แต่ได้เขียนเป็นตอนๆ รวมทั้งหมด 9 ตอน โดย 8 ตอนสุดท้าย (ตั้งแต่ตอนที่ 2 – 9) ได้ลงตีพิมพ์ในวารสาร Astounding Science-Fiction ที่มี John W. Campbell เป็นบรรณาธิการ ต่อมาเมื่อมีการนำไปรวมเล่มโดยสำนักพิมพ์ Gnome Press ในปี ค.ศ. 1951 จึงมีการเขียนตอนที่ 1 เพิ่มเติมเข้าไปภายหลัง เรื่องสั้นทั้ง 9 เรื่องที่ประกอบกันขึ้นเป็นไตรภาคแรกของชุดสถาบันสถาปนา มีรายละเอียดดังนี้ (ข้อมูลจากเว็บไซท์ของ Raja Thiagarajan)

หนังสือเล่มแรก : สถาบันสถาปนา

ภาค 1 นักอนาคตประวัติศาสตร์ (“The Psychohistorians”)


พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือรวมเล่มของชุด Foundation (โดยสำนักพิมพ์ Gnome Press ปี 1951) แต่ความจริงเป็นตอนที่เขียนขึ้นหลังสุดเพื่อให้เป็นบทนำของเรื่องทั้งชุด เพราะทางสำนักพิมพ์มีความเห็นว่าเรื่องในภาคที่ 2 นั้นเริ่มขึ้นอย่างห้วนๆ ไปหน่อย

 

 

 

 

ภาค 2 คณะผู้สร้างเอ็นไซโคลปิเดีย (“The Encyclopedists”)


เป็นบทเริ่มต้นของเรื่องชุดนี้ ตีพิมพ์ในวารสาร Astounding Science-Fiction เมื่อเดือนพฤษภาคม 1942 มีฉากเริ่มเรื่องตอนที่ฮาริ เซลด็อนประชุมลับกับทีมงาน ซึ่งถูกตัดไปในหนังสือที่พิมพ์รวมเล่ม และแทนด้วยภาค 1 นักอนาคตประวัติศาสตร์

 

 

 

 

 

 

ภาค 3 นายกเทศมนตรี (“The Mayors”)


พิมพ์ครั้งแรกในรูปเรื่องสั้นขนาดยาว (Novellette) ชื่อ “Bridle and Saddle” ในวารสาร Astounding Science-Fiction เมื่อเดือนมิถุนายน 1942

 

 

 

 

 

 

ภาค 4 กลุ่มพ่อค้า (“The Traders”)


พิมพ์ครั้งแรกในชื่อ “The Wedge” ในวารสาร Astounding Science-Fiction เมื่อเดือนตุลาคม 1944

 

 

 

 

ภาค 5 จ้าวแห่งพ่อค้า (“The Merchant Princes”)


พิมพ์ครั้งแรกในชื่อ “The Big and The Little” ในวารสาร Astounding Science-Fiction เมื่อเดือนสิงหาคม 1944 (สังเกตว่าตีพิมพ์ก่อนภาค 4)

 

 

 

 

 

หนังสือเล่มที่สอง สถาบันสถาปนาและจักรวรรดิ

ภาค 6 ท่านนายพล (“The General”)


พิมพ์ครั้งแรกในชื่อ “Dead Hand” ในวารสาร Astounding Science-Fiction เมื่อเดือนเมษายน 1945

 

 

 

 

ภาค 7 มโนมัย (“The Mule”)


พิมพ์ครั้งแรกในวารสาร Astounding Science-Fiction ต่อเนื่องกัน 2 ฉบับเมื่อเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม 1945

 

 

 

 

หนังสือเล่มที่สาม สถาบันสถาปนาแห่งที่สอง

ภาค 8 การค้นหาของมโนมัย (“Search by the Mule”)


พิมพ์ครั้งแรกในรูปแบบ novella (นวนิยายขนาดสั้น) ในชื่อ “Now You See It…”, ในวารสาร Astounding Science-Fiction เมื่อเดือนมกราคม 1948

 

 

 

 

ภาค 9 การค้นหาของสถาบันสถาปนา (“Search by Foundation”)


พิมพ์ครั้งแรกในรูปแบบ novella ในชื่อ “…And Now You Don’t” ลงติดต่อกัน 3 ฉบับในวารสาร Astounding Science-Fiction เมื่อเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม 1949 และมกราคม 1950

 

 

 

 

และนอกจากทั้ง 9 เรื่องที่รู้จักกันดีแพร่หลายในหนังสือทั้ง 3 เล่มแรกนี้แล้ว ในกลางทศวรรษ 1980 อาซิมอฟได้หันกลับมาจับหนังสือชุดนี้อีกครั้ง โดยเริ่มจากเล่มที่ 4 และ 5 คือ Foundation’s Edge และ Foundation and Earth ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจาก 3 เล่มแรก ทั้งนี้ Foundation’s Edge เป็นการเปิดประเด็นใหม่เกี่ยวกับ “สิ่งซึ่งมีอำนาจเหนือกว่า” ที่อาจจะเป็นภัยต่อแผนการเซลด็อนได้ ส่วน Foundation and Earth นับเป็นเล่มสุดท้ายของเหตุการณ์ทั้งหมด (ซึ่งค้างอยู่ในราวปีสถาปนศักราชที่ 400 เศษ ยังไม่จบบริบูรณ์ตามแผนการเซลด็อนที่วางไว้ล่วงหน้าถึง 1,000 ปี) และในเล่มที่ 5 นี้เองที่อาซิมอฟเริ่มนำเอาหุ่นยนต์ ดานีล โอลิวาฟ ที่มีบทบาทสำคัญในหนังสืออีกชุดหนึ่ง คือชุดหุ่นยนต์ (เช่น Caves of Steel และ Naked Sun เข้ามา) เข้ามา โดยปรากฏเป็นผู้มีบทบาทอยู่เบื้องหลังพิภพ กาเอีย (Gaia) และเป็นจุดเชื่อมระหว่างผลงาน 2 ชุดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอาซิมอฟ คือชุดสถาบันสถาปนา และ ชุดหุ่นยนต์ เข้าด้วยกัน (จะสังเกตว่าในยุคแรกที่อาซิมอฟเขียนเรื่องสถาบันสถาปนาขึ้นตอนแรกนี้ แทบจะไม่พบเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้หุ่นยนต์ปะปนอยู่ด้วยเลย ซึ่งจะมีการเฉลยว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น)

ถัดจากนั้นในปลายทศวรรษ 1980 อาซิมอฟได้เขียนเรื่องในชุดเพิ่มอีก 2 เรื่อง นับเป็นเรื่องที่ 6 และ 7 คือ Prelude to Foundation และ Forward the Foundation ซึ่งทั้งสองเล่มนี้ถึงแม้จะเขียนทีหลัง แต่กลับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ใน สถาบันสถาปนาเล่มแรก โดยจับช่วงที่ฮาริ เซลด็อน พยายามวางรากฐานของวิชาอนาคตประวัติศาสตร์ และก่อตั้งคณะทำงานตามแผนการเซลด็อนขึ้นที่ทรานทอร์ นครหลวงของจักวรรดิ และต้องต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ โดยได้รับความช่วยเหลือจากหุ่นยนต์สาวคู่ใจ ดอร์ส วีนาบิลี่ จนสามารถเริ่มงานตามแผนการเซลด็อนได้สำเร็จในที่สุด

เรื่อง Forward the Foundation นี้เป็นหนังสือที่อาซิมอฟเขียนไว้เป็นเรื่องสุดท้ายในชีวิต เมื่อปี 1992 ต่อจากนั้นอีกหลายปี ผู้แทนกองมรดกของอาซิมอฟจึงได้แต่งตั้งให้นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์คลื่นลูกใหม่อีก 3 ราย เข้ามาเขียนต่อจากผลงานที่ค้างอยู่ของอาซิมอฟอย่างเป็นทางการ เกิดเป็นเรื่องในชุดไตรภาค สถาบันสถาปนาที่สอง (Second Foundation Trilogy) ที่เพิ่งจะได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 1998-2000 นี้เอง เรื่องชุดนี้ประกอบด้วย Foundation’s Fear โดย Gregory Benford, Foundation and Chaos โดย Greg Bear และ Foundation’s Triumph โดย David Brin ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อจากเล่ม Foundation and Earth ในช่วง 500 ปีหลังของแผนการเซลด็อนจนครบ 1,000 ปีตามที่วางไว้

ทั้งหมดก็คือภาพรวมของเรื่องในชุดนี้ ซึ่งในปีนี้นับเป็นโอกาสครบรอบปีที่ 60 ที่เรื่องชุดนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก (1942-2002) พอดี เทคโนโลยีหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างในเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 เล่มแรกอาจไม่ดูหวือหวาทันสมัยเหมือนกับในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ยุคใหม่อย่างสตาร์วอร์ส หรือสตาร์เทร็ค แต่หากอ่านโดยใช้ความพินิจพิเคราะห์ตามสมควรก็จะพบว่า เค้าโครงเรื่องที่อาซิมอฟวางไว้นั้นยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริงเสมอ จักรวรรดิสากลจักรวาลอันไพศาลที่เจริญรุ่งเรืองมากว่า 12,000 ปีกลับมีอันเสื่อมสลายลง ด้วยการขาดความร่วมมือร่วมใจ ความเห็นแก่ได้ ความไม่เอาธุระ และความไม่รู้จักดิ้นรนเพื่อแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเองและสังคมโดยรวม เหล่านี้ล้วนเป็นไปตามหลักของความไม่แน่นอน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตามธรรมดาของโลก (และดวงดาวทั้งหลาย) ผู้มีความตั้งใจดีเพียงหยิบมือเดียวคงไม่อาจแก้ไขให้ผลของความพินาศเหล่านั้นปลาศนาการไปได้โดยง่าย จะทำได้ก็แต่เพียงผ่อนผันบรรเทาให้เบาบางลง ย่นระยะของอนารยยุคอันจะมีมาให้สั้นเข้าจากสามหมื่นปีเหลือพันปีเท่านั้น

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้หวังว่าจะเป็นการปูพื้นให้กับคุณผู้อ่านก่อนจะเริ่มต้นอ่านบทแรก และหวังว่าคงไม่เป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนนะครับ สำหรับท่านที่สนใจเรื่องอื่นๆ ของอาซิมอฟ อีกมากมายหลายเรื่อง รวมทั้งนิยายวิทยาศาสตร์ชั้นนำของนักเขียนอื่นๆ ทางบริษัท โปรวิชั่น จำกัด ร่วมกับกลุ่ม ออบิท จะได้ทยอยนำมาจัดพิมพ์โดยลำดับต่อๆ ไป