กว่าจะมาเป็นภาพยนตร์ I, ROBOT

ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร Videophile ฉบับที่ 82 ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2547
ปรับปรุงแก้ไขใหม่สำหรับเพิ่มเติมในหนังสือ “ข้าคือหุ่นยนต์”

ไหนๆบทความชุด Beyond Movie นี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาพยนตร์วิทยาศาสตร์มาหลายตอนแล้ว หากจะละเลยไม่พูดถึงหนังไซไฟที่สร้างจากผลงานของนักเขียนวิทยาศาสตร์มือหนึ่งของโลกอย่างไอแซค อาซิมอฟ ที่กำลังจะออกฉายในเดือนกรกฎาคม 2547 นี้อย่าง I, Robot ก็คงจะดูกระไรอยู่

ใครที่เคยอ่านเรื่องของอาซิมอฟในชุดหุ่นยนต์ ก็คงจะรู้ว่าตอนแรกที่อาซิมอฟเขียนเรื่องเหล่านี้ในราวปี 1950 เศษๆนั้น ได้ออกมาเป็นเรื่องยาวสองเล่มคือ The Caves of Steel (“โลหะนคร”) และ The Naked Sun (“สุริยานคร”) กับเรื่องสั้นรวมเล่มคือ I, Robotซึ่งเรื่อง I, Robot ที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์นั้น ได้ขอยืมตัวละครและสภาพแวดล้อมในยุคอนาคตจากเรื่องชุดหุ่นยนต์ทั้งหมดมาใช้ โดยผนวกกับเรื่องในแนวสืบสวนสอบสวนที่ได้รับอิทธิพลจากเรื่อง The Caves of Steel มากกว่าจะเป็นการหยิบเอาเรื่องใดเรื่องหนึ่งในชุดมาดัดแปลงโดยตรง

หนังเล่าถึงยุคอนาคตที่มนุษย์มอบความไว้วางใจให้หุ่นยนต์ทำหน้าที่เป็นทาสรับใช้ผู้ซื่อสัตย์โดยถือ “กฎสามข้อของหุ่นยนต์” (3 laws of Robotics) เป็นสรณะ นั่นคือ

1. หุ่นยนต์จะต้องไม่ทำร้ายมนุษย์ และจะนิ่งเฉยปล่อยให้มนุษย์เป็นอันตรายไม่ได้

2. หุ่นยนต์จะต้องเชื่อฟังคำสั่งของมนุษย์ เว้นแต่คำสั่งนั้นจะขัดกับกฎข้อ 1

3. หุ่นยนต์จะต้องป้องกันตัวเองให้พ้นจากอันตราย เว้นแต่การกระทำนั้นจะขัดกับกฎข้อ 1 หรือ 2

ซึ่งเหตุการณ์ก็ดำเนินไปอย่างสงบเรียบร้อยจนกระทั่งมีประชากรหุ่นยนต์มากมายออกมาเดินเพ่นพ่านอยู่ทั่วไปในโลก โดยมีอัตราส่วนหุ่นยนต์ต่อมนุษย์ถึง 1 ต่อ 15 จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดการฆาตกรรมมนุษย์ขึ้น และหุ่นยนต์ซึ่งตามกฎสามข้อนี้จะไม่สามารถทำอันตรายมนุษย์ได้เลย กลับตกเป็นผู้ต้องสงสัย ร้อนถึงนักสืบเดล สปูนเนอร์ (Will Smith ดาราผิวหมึกที่เราคุ้นหน้ากันดี จากเรื่อง Wild Wild West, Bad Boys และ Independent Day หรือ ID4) แห่งกรมตำรวจเมืองชิคาโก ต้องเข้ามาคลี่คลายคดี

แต่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับว่าหุ่นยนต์สามารถละเมิดกฎสามข้อที่ตั้งโปรแกรมไว้ได้หรือไม่นี้ ออกจะเกินกำลังความรู้ของเขาไปบ้าง จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้าน “จิตวิทยาหุ่นยนต์” หรือ Robopsychologist ชื่อดังที่สุดอย่าง ดร. ซูซาน แคลวิน (Bridget Moynahan) แห่งบริษัทหุ่นสหรัฐฯ หรือ U.S. Robot and Mechanical Men หรือเรียกย่อๆว่า US Robotics (USR) ผู้สร้างหุ่นยนต์นี้ เข้ามาช่วยวิเคราะห์เหตุการณ์ และเปิดโปงความจริงให้สาธารณชนได้รับรู้ ซึ่งผลของการสืบสวนนั้นจะกระทบต่อมนุษย์ในวงกว้างถึงขนาดว่าสังคมที่ต้องอาศัยหุ่นยนต์เข้ามาเป็นเครื่องทุ่นแรงอย่างนี้จะอยู่รอดปลอดภัยหรือไม่ และมนุษย์จะสามารถไว้ใจหุ่นยนต์ได้เพียงไรในอนาคตข้างหน้า

ดร. ซูซาน แคลวิน (Bridget Moynahan) นักจิตวิทยาหุ่นยนต์ (ภาพจากเว็บไซท์ www.irobotmovie.com)

ดร. ซูซาน แคลวิน นั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นตัวละครเอกที่มีบทบาทในการดำเนินเรื่องในชุดหุ่นยนต์ของอาซิมอฟอย่างมาก หลายต่อหลายครั้งที่เธออาศัยตรรกะในการวิเคราะห์พฤติกรรมของหุ่นยนต์ภายใต้การควบคุมของกฎสามข้อนั้นอย่างละเอียดและนำไปสู่ข้อสรุปที่หักมุมในเรื่องสั้นหลายๆตอน รวมทั้งได้ถูกนำมาอ้างถึงในเรื่องของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ยุคหลังอย่าง Second Foundation Trilogy (สถาบันสถาปนา เล่ม 8, 9 และ 10) ที่แต่งให้ในท้ายที่สุดแล้ว หุ่นยนต์ยังแบ่งออกเป็นสอง “นิกาย” พวกหนึ่งคือ นิกาย “แคลวิน” ที่ยึดถือตามกฎสามข้อข้างต้นอย่างเคร่งครัด โดยเอาชื่อของซูซาน แคลวิน มาเป็นหลักยึด กับสาวกของนิกาย “จิสการ์ด” ที่ให้ความสำคัญกับกฎข้อที่ 0 (Zeroth law) มากกว่าข้อ 1-3 ซึ่งกฎข้อนี้เกิดขึ้นทีหลังโดยการคิดค้นของหุ่นยนต์ผู้มีพลังจิตชื่อ จิสการ์ด เรเวนลอฟต์ มีใจความว่า

0. หุ่นยนต์จะต้องไม่ทำร้ายมนุษย์ชาติ และจะนิ่งเฉยปล่อยให้มนุษย์ชาติเป็นอันตรายไม่ได้

ส่วนกฎข้อ 1-3 ก็จะถูกดัดแปลงในทำนองที่ว่า “… เว้นแต่จะขัดกับกฎข้อที่ 0” คือถ้าไม่ขัดก็แล้วไป แต่ถ้าขัดกับกฎข้อที่ 0 แล้วจะต้องทำตามกฎข้อ 0 ก่อน ซึ่งกฎข้อ 0 นี้โดยสรุปก็คือการถือเอาความปลอดภัยของ “มนุษยชาติ” โดยรวมว่ามีความสำคัญเหนือกว่าความปลอดภัยของปัจเจกชนคนใดคนหนึ่ง (ดังที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง The Robot of Dawn และ Robots and Empire ในนิยายเรื่องยาวชุดหุ่นยนต์สองเล่มหลังของอาซิมอฟ) คืออาจยอมให้มนุษย์บางคนเป็นอันตรายได้ถ้าต้องรักษามนุษยชาติโดยรวมเอาไว้ก่อน ซึ่งความแตกต่างของสองแนวคิดนี้ได้นำไปสู่การต่อสู้กันขึ้นระหว่างนิกายทั้งสองในอนาคตอีกหลายหมื่นปีนับจากนี้ (ใน Foundation เล่ม 8 – 10 : Foundation’s Fear, Foundation and Chaos และ Foundation’s Triumph)

Sonny หุ่นยนต์เจ้าปัญหาที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย (ภาพจากเว็บไซท์ www.irobotmovie.com)

I, Robot เป็นความพยายามอีกครั้งที่จะนำผลงานของไอแซค อาซิมอฟ มาสร้างเป็นภาพยนต์จอเงิน หากหนังได้รับการต้อนรับดี ก็อาจมีการหยิบเอาเรื่องอื่นๆของอาซิมอฟมาสร้างเป็นหนังกันใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสืบสวนที่ เกี่ยวกับหุ่นยนต์เช่นกันอย่าง The Caves of Steel (โลหะนคร) รวมทั้งเรื่องของการย้อนเวลาอย่าง The End of Eternity (จุดดับแห่งนิรันดร์) และชุดสถาบันสถาปนาหรือ Foundation อันเป็นงานชิ้นแรกๆของอาซิมอฟ ซึ่งทั้งสามเรื่องนี้สตูดิโอยักษ์ใหญ่ของฮอลลีวู้ดกำลังเตรียมจะสร้างเป็นภาพยนตร์อยู่

แต่จากที่ผ่านมาหลายๆเรื่อง งานของอาซิมอฟมักจะถูกดัดแปลงไปพอสมควรเมื่อทำเป็นหนัง เช่น Bicentenial Man ที่โรบิน วิลเลี่ยมส์ เล่นเป็นหุ่นยนต์ที่ยอมสละแม้ชีวิตของตนเองเพียงเพื่อให้ได้รับการยอมรับว่าเป็น “คน” กับเขาบ้างเท่านั้น หรือบางเรื่องก็เป็นหนังเกรดบี อย่างเช่น Nightfall (สนธยาเยือน) จากหนังสือชื่อเดียวกันที่เขียนร่วมกับ Robert Silverberg เล่าถึงการขุดค้นทางโบราณคดีที่เปิดเผยความจริงว่า บนพิภพที่มีหลายดวงอาทิตย์ผลัดเปลี่ยนกันส่องแสงตลอดวันตลอดคืนโดยไม่เคยมืดนั้น อารยธรรมของมนุษย์ได้สูญสลายแล้วฟื้นฟูขึ้นใหม่หลายต่อหลายรอบมาแล้ว และกำลังจะสูญสลาย (รอบใหม่) ไปพร้อมๆกับการเคลื่อนเข้าสู่เงามืดของดวงอาทิตย์ทั้งหมดพร้อมกัน ซึ่งก็คือการเข้าสู่รัตติกาลจริงๆ ครั้งเดียวในรอบหลายพันปี ทำให้ผู้คนที่ไม่เคยพบกับกลางคืนเกิดหวาดวิตกกันอย่างมโหฬารเข้าขั้นอลหม่านทีเดียว แต่หนังก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนักถึงจะสร้างกันมาสองครั้งแล้วก็ตาม

นักสืบเดล สปูนเนอร์ (Will Smith) ผู้มีภูมิหลังที่ไม่ค่อยจะถูกกับหุ่นยนต์นัก (ภาพจากเว็บไซท์ www.irobotmovie.com)

งานของอาซิมอฟที่เป็นหนังสือนั้นมีจุดเด่นที่รายละเอียดและบทสนทนาถกเถียงโดยใช้เหตุผลที่ซับซ้อน ในขณะที่ภาพยนตร์นั้นเป็นสื่ออีกประเภทหนึ่งที่ต้องมีการสร้างความตื่นเต้นเร้าใจค่อนข้างตลอดเวลา ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของผู้กำกับอย่าง Alex Proyas(ที่เคยฝากผลงานในเรื่อง Dark City และ The Crow มาแล้ว) และผู้เขียนบท Jeff Vintar (ซึ่งเคยร่วมเขียนเรื่อง Final Fantasy: The Spirits Within) และ Akiva Goldsman (ผู้เขียนบทเรื่อง Lost in Space และ A Beautiful Mind) ที่จะต้องดึงเอาเรื่องแอคชั่นมาผสมผสานกับภูมิหลังในแบบไซไฟให้ลงตัว

ซึ่งประกอบกับความจริงที่ว่าบทเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นแต่แรกโดย Jeff Vintar ในชื่อ Hardwired แล้วค่อยมีการนำเอาชื่อตัวละครและรายละเอียดของ I, Robot ใส่เข้าไปทีหลัง ก็ได้สร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาแฟนพันธุ์แท้ของอาซิมอฟเป็นอย่างยิ่ง เรียกว่าเข้าข่าย “ย่ำยีของวิเศษ” อะไรทำนองนั้นทีเดียว ถึงกับมีการประท้วงกันเป็นเรื่องเป็นราวบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้สนใจสามารถหาอ่านได้ที่

www.lies.com/wp/2004/05/26/boycott-the-opening-week-of-i-robot

แต่มองในมุมกลับก็มีผู้วิจารณ์ไว้อย่างน่าสนใจตอนท้ายที่เว็บเดียวกันนี้ว่า ถึงแม้หนัง I, Robot จะไม่ได้ดึงเอาเค้าโครงจากเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งเรื่องใดในเล่มมาใช้โดยตรง แต่ก็ได้หยิบเอาไอเดียต่างๆในเรื่องหุ่นยนต์ของอาซิมอฟมาใส่เข้าไปได้ค่อนข้างครบถ้วน ส่วนฉากแอ็คชั่นที่ใส่เข้าไปนั้นก็ไม่ได้ขัดหรือตรงข้ามกับแนวคิดของอาซิมอฟแต่อย่างใด และความจริงแล้วหลายฉากก็เพียงแต่ขยายความมาจากส่วนปลีกย่อยที่อาซิมอฟพูดไว้สั้นๆ ในหนังสือ I,Robot นั่นเอง

นอกจากนี้ในฐานะที่เป็นหนึ่งในบรรณากรผู้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ ซึ่งกำลังจะจัดพิมพ์ขึ้นใหม่โดยบริษัท โปรวิชั่น จำกัด ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า หลายๆประเด็นที่อยู่ในหนังสือ I, Robot นั้นเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องอื่นๆที่ตามมาอีกมาก ทั้งเรื่องของอาซิมอฟเองและอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการประยุกต์ใช้กฎข้อ 1 ของหุ่นยนต์โดยตีความถึงมนุษยชาติทั้งปวง (ในเรื่อง The Evitable Conflict) อันนำไปสู่กฎข้อ 0 ในเรื่องหลังๆ ของอาซิมอฟ ตามที่เล่าไปแล้ว

การที่ชายผู้พิการและสูญเสียอนาคต ส่งตัวปลอมของเขาออกมามีบทบาทในสังคมเพื่อทำสิ่งที่เขาไม่สามารถทำได้อีกต่อไป (ในเรื่อง Evidence) ทำให้ผมนึกไปถึงภาพยนตร์เรื่อง Gattaca ที่ผู้มียีนเหมาะสมแต่พิการ ช่วยส่งตัวปลอมออกมาฝึกเป็นนักบินอวกาศแทน หรือการที่หุ่นยนต์ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเท็จจริงว่าเราเป็นผู้สร้างมันขึ้นมา เพราะเราด้อยกว่าทั้งในด้านกายภาพและการคิดคำนวณ (ในเรื่อง Reason) ดูคล้ายกับในภาพยนตร์เรื่อง Star Trek: The Motion Picture ตรงที่ วีเจอร์ (V’GER) ไม่ยอมรับว่า สิ่งมีชีวิต ‘หน่วยฐานคาร์บอน’ (carbon-based unit) ที่อ่อนแออย่างมนุษย์จะสามารถสร้างยานส่งออกไปในจักรวาล จนแปรรูปไปเป็นสิ่งกึ่งมีชีวิตและกลับมาตามหาผู้สร้างได้

ส่วนในประเด็นของหนัง I, Robot ที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นการสร้างสรรค์ต่อยอดและตีความให้เข้ากับชนิดของสื่อและยุคสมัย หรือจะเป็นการย่ำยีของวิเศษนั้น สองฝ่ายนี้ใครจะผิดจะถูก หรือหนังจะทำออกมาได้ดีแค่ไหนนั้น ก็คงต้องอ่านหนังสือให้จบ และไปดูหนังด้วยตาตนเอง แล้วค่อยมาตัดสินกันครับ