ลอนดอนทางผ่าน เยือนบ้านเชอร์ล็อคโฮล์มส์

หนาวจัง เท้าเย็นเจี๊ยบเลย สงสัยจะเปิดแอร์แรงไป…
แอร์ เอ๊ะ! ไม่ใช่ ไม่มีแอร์นี่ มีแต่ฮีตเตอร์ (เครื่องทำความร้อน)
อ้อ! นึกออกแล้ว เราไม่ได้อยู่บ้านซักหน่อย ตะลอนๆ มานอนเล่นอยู่เมืองผู้ดีอังกฤษตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมานี่เอง

ช่วงสี่ห้าปีมานี้เรื่องราวของเชอร์ล็อค โฮล์มส์ นักสืบชื่อดังเป็นอมตะของอังกฤษตั้งแต่ยุควิคตอเรียเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ได้กลับมาปรากฏในความรับรู้ของผู้คนอย่างแพร่หลายอีกครั้ง ทั้งจากหนังและซีรี่ส์ที่แข่งกันสร้างทั้งฝั่งอังกฤษต้นตำรับ และฝั่งอเมริกา ผมเลยจะขอถือโอกาสนี้เอาเรื่องเก่าที่เคยเขียนไว้นานแล้ว สมัยไปลอนดอนครั้งแรก มารีรันอีกครั้งให้เข้ากับยุคสมัย 🙂

การมาลอนดอนของผมในตอนนั้นเป็นครั้งแรก และที่แรกที่ไปในเช้าวันแรกก็คือ บ้านเชอร์ล็อค โฮลมส์ นั่นเอง! คราวนั้นจำได้ว่าแวะลอนดอนระหว่างทางผ่านไปที่จะต่อไปยังเบลเยี่ยมและเยอรมัน ซึ่งต้องลงเครื่องบินแล้วไปต่อรถไฟที่อังกฤษอยู่แล้ว ก็เลยขอแวะพักดูบ้านดูเมืองลอนดอนกันสักหน่อย

เท่าที่ได้ยินได้ฟังมา ลอนดอนเป็นเมืองใหญ่ ผู้คนมากมาย ขนาดที่ต้องเริ่มสร้างรถไฟใต้ดิน (ชาวบ้านที่นี่เขาเรียกว่า Tube ที่แปลว่าท่อ คือรถที่วิ่งในท่อนั่นเอง) สายแรกกันตั้งแต่เมื่อร้อยปีก่อน และยังเคยเป็นเมืองแม่ของจักรวรรดิอังกฤษอันแผ่ไพศาลไปทุกมุมโลกจนมีคำกล่าวว่าพระอาทิตย์ไม่เคยตกดินในจักรวรรดิอังกฤษ แต่ผลพวงที่ตามมาในยุคที่อังกฤษเหลือแต่เกาะบริเทนเป็นหลักก็คือมีคนมากมายหลายเชื้อชาติจากสารพัดดินแดนที่เคยอยู่ใต้อาณัติเหล่านั้น อพยพเข้ามาอาศัยในประเทศอังกฤษมากมายจนเหมือนอเมริกันกลายๆทีเดียว

สายแล้ว แต่แดดก็ยังไม่จัด อากาศต้นเดือนตุลาคมเย็นสบาย มีแค่แจ็คเก็ตไม่หนาตัวเดียวก็เอาอยู่ แต่วันนี้เป็นวันแรกในลอนดอน ผมเลยเตรียมไปทั้งเสื้อกั๊กและเสื้อหนา ปรากฏว่าพอสายเข้าก็ร้อนเกินไปนิด เริ่มต้นออกเดินจากโรงแรมซึ่งอยู่ใกล้สถานีรถไฟแพดดิงตัน (Paddington) อันเป็นสถานีที่รถด่วนจากสนามบินฮีทโรวหรือ Heathrow Express (www.heathrowexpress.com) วิ่งรวดเดียวโดยไม่หยุดเพียง 15 นาทีจากสนามบินถึงสถานีรถไฟ นับเป็นวิธีที่เร็วที่สุดจากเมืองไปสนามบิน ซึ่งถ้านั่งรถบัสหรือรถใต้ดินไปต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งหรือค่อนชั่วโมง (ค่าโดยสารเกือบ 30 ปอนด์หรือสองพันกว่าบาทสำหรับตั๋วไป-กลับ วิ่งจากสถานี Paddington เพียงแห่งเดียวเท่านั้น โดยมีออกทุก 15 นาที) ผมเดินลัดเลาะดูเมืองไปเรื่อยๆ โดยมีจุดหมายปลายทางในช่วงนี้ที่สถานีรถใต้ดิน Baker Street ผู้คนที่เดินตามถนนขวักไขว่ก็มีหลายเชื้อชาติอย่างที่บอกแล้ว ทั้งนักท่องเที่ยวและคนในท้องที่ บ้างก็ลากกระเป๋าใบโตๆจากโรงแรมมาตามทางเท้าริมถนนเพื่อไปขึ้นรถไฟ (ถ้าเป็นเมืองไทยคงเรียกแท็กซี่ไปแล้ว แต่ที่นี่แท็กซี่ค่อนข้างแพง ระยะทางใกล้ไม่ถึงกิโลก็ไม่มีใครเขาเรียกกัน แท็กซี่เองก็ใช่ว่าจะวิ่งไปมาให้โบกเรียกง่ายๆ เห็นวิ่งไปมาก็มีบ้าง แต่ส่วนใหญ่ต้องโทรตามหรือไปหาจากคิวแท็กซี่แถวสถานีรถไฟมากกว่า) บ้างก็รีบจ้ำไปทำงานหรือไปธุระ จะมีแต่ผมกับพวกที่ดูปุ๊บรู้ปั๊บว่าเป็นนักท่องเที่ยว ค่อยๆเดินดูอะไรต่อมิอะไรข้างทางไปเรื่อยๆ สักพักใหญ่ๆก็มาถึงสถานี Baker Street ซึ่งเป็นจุดที่จะมาขึ้นรถบัสเปิดหลังคาเพื่อชมเมืองได้ รถบัสค้นใหญ่สองชั้น ทำหน้าตาเลียนแบบรถเมล์ดั้งเดิมของลอนดอนที่มีสองชั้นและสีแดงแปร๊ด ต่างกันแต่ชั้นบนเปิดหลังคาออกหมดให้ชมวิวหรือถ่ายรูปได้ถนัด

ป้ายโฆษณาเชอร์ล็อคโฮล์มส์ในสถานี Baker Street

หน้าบ้าน (พิพิธภัณฑ์) เชอร์ล็อค โฮล์มส์

รถบัสยังไม่มา คิวก็ยาว เลยถอยมาหาอะไรทำฆ่าเวลาก่อน หันไปเห็นป้ายชื่อถนนเบเคอร์ ชื่อนี้คุ้นๆแฮะ ใช่แล้ว ถนนที่บ้านของเชอร์ล็อคโฮล์มส์ นักสืบชื่อดังของลอนดอนอยู่นี่เอง เคยดูมาแล้วบนเว็บว่ามีพิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อคโฮล์มส์อยู่แถวนี้ จัดแจงเดินไปตามแผนที่ที่พรินต์มาจากเว็บ ไม่กี่ร้อยเมตรก็เห็นป้าย Sherlock Holmes Museum อยู่ฝั่งตรงข้าม เลขที่ 212B ตรงตามที่บรรยายในหนังสือ เป็นห้องเล็กๆในตึกแถวเก่าหน้าตาโบราณสามสี่ชั้นจำนวนไม่กี่สิบห้องสุดท้ายที่ยังคงสภาพเดิมอยู่บนถนนเบเคอร์ ในขณะที่โดยรอบกลายเป็นอาคารที่ทันสมัยกว่าไปหมดแล้ว ข้ามถนนไปถึงหน้าประตู ถึงกับผงะเมื่อเห็นป้ายเตือนของตำรวจ (Police Warning) ว่ามีการฆาตกรรมเกิดขึ้นแถวนี้ ให้ผู้คนที่ผ่านไปมาในยามวิกาลระวังตัว หน้าตาใบปิดก็ดูเหมือนประกาศยุคปัจจุบัน แต่พอดูวันเดือนปีเห็นเป็นปลายศตวรรษที่ 19  หรือราวร้อยกว่าปีก่อน ถึงนึกได้ว่าแหม เล่นมุขกันตั้งแต่หน้าประตูเลยเชียวนะ

ภาพวาดเซอร์อาเธอร์ โคแนน ดอยล์

ใครที่ยังไม่รู้จักเชอร์ล็อคโฮล์มส์ ขอแนะนำสั้นๆว่าเป็นนิยายนักสืบที่เขียนโดย เซอร์อาเธอร์ โคแนน ดอยล์ (Arthur Conan Doyle) คุณหมอนักเขียน โดยตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1881 และตามเรื่องก็เป็นระหว่างปี ค.ศ. 1881 – 1904 โดยตัวเชอร์ล็อค โฮล์มส์ นั้นเป็นนักสืบที่มีความสามารถพิเศษในการวิเคราะห์หลักฐาน รวมทั้งการวิเคราะห์ทางเคมีแบบคล้ายๆ CSI เท่าที่วิทยาการยุคนั้นจะอำนวย ตลอดจนการอนุมานเพื่อหาข้อสรุปว่าใครเป็นผู้ร้าย โดยมาเฉลยในตอนท้ายเรื่องแบบที่ผู้อ่านต้องย้อนกลับไปอ่านใหมท่ถึงจะคิดตามได้ทัน ประมาณว่าเป็นต้นแบบหรือแรงบันดาลใจของโคนัน ในการ์ตูนนักสืบรุ่นจิ๋ว อะไรทำนองนั้น สัญลักษณ์ประจำตัวเชอร์ล็อคโฮล์มส์คือคาบไปป์ (กล้องยาสูบ) และใส่หมวกที่มีแก๊ปสองด้าน และยังมักทำงานร่วมกับคู่หูที่เป็นหมอ คือหมอวัตสัน (John H. Watson M.D.) ซึ่งจับพลัดจับผลูมาเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน จัดเป็นวรรณกรรมนักสืบรุ่นแรกที่แพร่หลายไปทั่วโลก

เดินเข้าไปดูข้างในพิพิธภัณฑ์ ชั้นล่างยาวทะลุไปเป็นร้านขายของที่ระลึกเกี่ยวกับเชอร์ล็อคโฮล์มส์ ทั้งหมวกแก๊ป ไปป์ หนังสือและหนังในรูปแบบ DVD พวงกุญแจ ฯลฯ หน้าบันไดทางขึ้นชั้นบนมีคุณตำรวจในชุดหมวกทรงสูงแบบโบราณของยุควิคตอเรียยืนเฝ้าอยู่ และกำลังแอ๊คชั่นถ่ายรูปร่วมกับสาวๆจากเมืองไทยสามคนที่มาชมพิพิธภัณฑ์ (เป็นเรื่องปกติในลอนดอนครับที่เดินไปไหนก็ได้ยินเสียงคนไทยคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นตามถนน ในรถใต้ดิน หรืออื่นๆ ทั้งๆที่เงินปอนด์ก็แพงจนค่าครองชีพที่นี่สูงกว่าในแผ่นดินใหญ่ของทวีปยุโรปที่ใช้เงินยูโรอยู่พอสมควร) เสียดายที่วันนี้ผมยังไม่ได้ไปรับ London Pass ซึ่งเป็นบัตรที่รวมสารพัดตั๋วเข้าชมสถานที่หลายๆแห่งในลอนดอน (แต่ไม่รวมถึงบางที่อย่างชิงช้าสวรรค์ยักษ์ London Eye) ซึ่งสั่งซื้อจากเมืองไทย แต่ต้องไปรับจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่ถนนรีเจนท์ (ไม่ไกลจากวงเวียน Piccadilly) วันนี้ก็เลยดูได้แต่ร้านข้างล่าง เพราะไม่อยากเสียเงินซื้อตั๋วเข้าชมส่วนของพิพิธภัณฑ์เองใหม่ ฝากไว้ก่อนนะ เชอร์ล็อค

สองวันถัดมาผมกลับมาที่พิพิธภัณฑ์นี้อีกครั้งพร้อม Loddon Pass คราวนี้ตรงขึ้นข้างบนเลย เพราะไม่อยากเสียเวลาและเสียสตางค์กับของ souvenir ทั้งหลาย และต้องคอยบอกตัวเองว่ายังจะแบกเป้ หอบกระเป๋า ขึ้นรถไฟตะลอนๆไปอีกหลายเมือง ขืนช็อปเรื่อยๆไม่ยั้งจะแบกของไปด้วยไม่ไหว เดินขึ้นไปดูชั้นสอง ด้านหน้าติดถนนเป็นห้องนั่งเล่นที่สองสหายคือโฮล์มส์กับวัตสันจะนั่งปรึกษาและเฉลยความลับของคดีกัน มองลงมาจะเห็นวิวของถนนเบเคอร์ที่รถราวิ่งกันขวักไขว่ และด้านหลังเป็นห้องนอนของโฮล์มส์ ซึ่งตรงตามที่เขียนไว้ในหนังสือว่าห้องนอนของโฮล์มส์ติดกับห้องนั่งเล่น ส่วนห้องนอนของหมอวัตสันอยู่ชั้นสาม (ความจริงเมืองอังกฤษนี้เขานับชั้น G คือ Ground หรือชั้นพื้นดิน ขึ้นบันไดไปชั้นแรกถึงจะเป็นชั้น 1 หรือ First Floor ขึ้นอีกชั้นถึงจะเป็นชั้นสองหรือ Second Floor แต่ขอนับแบบไทยเพื่อง่ายต่อความเข้าใจของเราก็แล้วกันนะครับ) ที่ห้องนั่งเล่นชั้นสองนี้เองมีชายชราท่าทางใจดี นั่งเอกเขนกรอต้อนรับผู้มาเยือน ถามไถ่ได้ความว่าก็คือหมอวัตสัน คู่หูของโฮล์มส์นั่นเอง “อายุผมเหรอ ก็น่าจะราวๆ 150 ปีละมั้ง” แกพูดหน้าตาเฉย และบอกว่าวันนี้เชอร์ล็อคออกไปทำคดีอย่างเคย เลยทิ้งให้แกเฝ้าบ้านคนเดียว แต่ก็ยินดีที่มีคนมาเยี่ยมเยือน พลางชี้ให้ดูสิ่งของสารพัดในห้อง “นี่เก้าอี้ประจำของเชอร์ล็อค เขาชอบนั่งตรงโน้น ผมจะนั่งตรงนี้ ส่วนอันนั้นคือแว่นขยายที่ใช้…” ผมเลยรับมุขถามไปว่าแล้วขวดไหนคือ sevent percent solution (สารละลายโคเคน 7% ที่โฮล์มส์ใช้เป็นครั้งคราวเพื่อกระตุ้นให้สมองแล่นเวลาคิดไม่ออก ตามที่บรรยายไว้ในหนังสือ ซึ่งยุคนั้นยังไม่ถือว่าโคเคนเป็นยาเสพติดร้ายแรง) แกหัวเราะชอบใจแล้วบอกว่า “เอาไปซ่อนไว้แล้ว เพราะมันไม่ดีกับสุขภาพ”

หมอวัตสัน (คน) กับหุ่นขี้ผึ้งเชอร์ล็อคโฮล์มส์

ห้องนอนของเชอร์ล็อคโฮล์มส์

 

หุ่นขี้ผึ้งจำลองเหตุการณ์ในคดีต่างๆ

จากมุมโปรดในห้องนั่งเล่นมองลงไปที่ถนนเบเคอร์ ไม่รู้โฮล์มส์จะคิดอย่างไรถ้าได้เห็นภาพแบบนี้

 

ส่วนหนึ่งของชั้นที่สาม และทั้งชั้นของชั้นที่สี่ของพิพิธภัณฑ์ (นับแบบไทย) เป็นที่ว่างซึ่งจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งจำลองเหตุการณ์ในคดีต่างๆของเชอร์ล็อคโฮล์มส์ (ส่วนมากเป็นคดีฆาตกรรม) ซึ่งถ้าใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ก็คงจะจำได้ว่ามาจากเรื่องไหนกันบ้าง แต่ผมซึ่งอ่านเมื่อนานหลายสิบปีมาแล้วตั้งแต่ยุคที่แปลโดย อ. สายสุวรรณ เลยชักเลือนๆ ไป ที่จริงพิพิธภัณฑ์นี้เล็กนิดเดียว ใช้เวลาเดินดูและถ่ายรูปสิบกว่านาทีก็ทั่ว ขึ้นกับกว่าผู้เข้าชมแต่ละคนจะ “อิน” กับบรรยากาศตามที่บรรยายในหนังสือแค่ไหน ผมเดินซอกแซกจนทั่วชั้นบนสุดแล้วก็ยังตะกายขึ้นไปอีกครึ่งชั้น ด้วยอยากรู้ว่าตรงชานพักบันไดของชั้นบนสุดเป็นห้องอะไร ได้คำตอบเลยครับ ห้องน้ำแบบโบราณของบ้านนั่นเอง (ดูตามรูปประกอบครับ) ทำไมถึงเอาไว้ชั้นบนสุดเหนือพักบันไดก็ไม่รู้ ส่วนห้องน้ำที่เปิดให้ใช้จริงปัจจุบันอยู่ชั้นใต้ดินครับ

ห้องน้ำโบราณ มีห้องเดียว อยู่ชั้นบนสุดของบ้าน

ใครที่ติดตามอ่านมาตั้งแต่ต้นอาจจะงงว่า ถ้าเชอร์ล็อคโฮล์มส์เป็นตัวละครในหนังสือ แล้วจริงๆบ้านนี้เป็นของใคร บ้านนี้ตามบันทึกของทางการเป็นบ้านที่ขึ้นทะเบียนไว้ว่าให้เช่าจริงตั้งแต่ยุควิคตอเรีย (ปลายศตวรรษที่ 18 ก็คือสมัยของเชอร์ล็อคโฮล์มส์นั่นเอง) แต่เพิ่งจะมาเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อปี 1991 หรือสิบเจ็ดปีที่แล้วนี่เอง นัยว่าเจ้าของบ้านรำคาญที่มีคนแปลกหน้ามาแวะเวียนดูบ้านเลขที่ 212 บี ถนนเบเคอร์ตามที่อ้างถึงในหนังสืออยู่เรื่อยๆ เลยยอมให้กลุ่มแฟนพันธุ์แท้ของเชอร์ล็อคโฮล์มส์เอามาทำพิพิธภัณฑ์เสียเลย ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม ก็นับว่าเป็นจุดขายอันหนึ่งของย่านถนนเบเคอร์ที่ใครผ่านไปผ่านมาก็มักจะเดินเลี้ยวมาดู เพราะห่างจากพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งของมาดามทูโซต์ที่อยู่ใกล้หัวมุมถนนเบเคอร์แค่ไม่กี่ร้อยเมตร

ผมเดินกลับออกจากบ้านเชอร์ล็อคโฮล์มส์มาอย่างสบายใจ มุ่งหน้ากลับไปต่อคิวรถบัสชมเมืองอย่างเดิม รู้สึกเหมือนกับได้กลับไปเยี่ยมเยือนคนที่คุ้นเคยแต่ไม่ได้นึกถึงกันเสียนาน บางทีการหวนระลึกถึงจินตนาการในวัยเยาว์ก็ช่วยให้เราย้อนกลับมาเป็นตัวของตัวเอง ย้อนระลึกถึงความหวังในชีวิตเมื่อครั้งก่อน มองย้อนไปว่าเราได้เดินมาไกลแค่ไหนแล้ว เพื่อเป็นกำลังใจในการก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคงอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับเรื่องของทางผ่านอีกเมืองหนึ่งที่มีโอกาสไปย่ำมาในคราวเดียวกันนี้ คือ บรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยี่ยมและสำนักงานใหญ่ของประชาคมยุโรป (European Union) ถ้ามีโอกาสก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังวันหลังครับ

_____________________

ข้อมูลเพิ่มเติม

The Sherlock Holmes Museum

221b Baker St. London NW1 6XE United Kingdom

เปิดทุกวัน (เว้นวันคริสต์มาส) เวลา 0930 – 1800 น.

ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 6 ปอนด์ เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี 4 ปอนด์

http://www.sherlock-holmes.co.uk/home.htm