Interstellar – ขอบฟ้าที่บรรจบของ Sci-Fi กับหนังตลาด

ถ้าจะมีใครทำหนังอวกาศขึ้นมาใหม่ แล้วให้การผจญภัยที่ดูเหมือนไม่ไฮเทคจนไกลโพ้นแบบ Star Trek หรือ Star Wars ที่แค่กดปุ่มก็โจนเข้าสู่ความเร็วเหนือแสงได้ง่ายแค่พริบตา เอาแค่เทคโนโลยีที่ไม่ไกลตัวมาก ประมาณอนาคตอันใกล้ที่มนุษย์ไปถึงได้แค่ดาวเคราะห์อื่นในระบบสุริยะของเรา แบบหนัง Mission to Mars หรือ Red Planet ที่ไปดาวแค่อังคาร ความท้าทายคือจะทำยังไงให้มันยิ่งใหญ่ อลังการงานสร้าง และที่สำคัญที่สุดคือต้อง “ดูสนุก” พอที่จะทำกำไรให้สตูดิโอที่ลงทุนด้วย…

(Warning! spoiler ahead – ถ้าคุณยังไม่ได้ดู อย่าเพิ่งอ่านต่อนะครับ)

แน่นอนครับ Interstellar ของผู้กำกับ Christopher Nolan คือหนังที่ตอบโจทย์นั้นได้ลงตัว ชนิดที่ว่าฉายแค่อาทิตย์กว่าๆ ก็ทำรายได้ (ก่อนหักส่วนแบ่งของโรงหนัง) เกินทุนสร้าง 165 ล้านดอลลาร์ไปแล้ว ทั้งๆ ที่หนังแนวนี้มีทำกันมาตั้งหลายเรื่อง ไม่เห็นเรื่องไหนจะฮือฮาเป็นกระแสได้ระดับนี้ แถมตัวหนังก็ยังยาวปาเข้าไปเกือบ 3 ชั่วโมง มันมีอะไรดี (ฟระ)?

หลังจากดูไปสองรอบแล้ว ทั้งระบบ iMAX และธรรมดา ผมก็ค่อนข้างจะสรุป (ตามความเห็นส่วนตัวนะครับ) ได้ว่าเป็นฝีมือของผู้กำกับอย่างโนแลนจริงๆ ที่จะวางพล็อตและควบคุมจังหวะในการเล่าเรื่องให้ออกมาดูได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับเป็น hard science ที่จืดหรือเนิบเกินไปแบบ 2001 Space Odyssey หนังคลาสสิคระดับตำนานของสแตนลีย์ คูบริค ที่ดูแล้วไม่ค่อยสนุก ถึงแม้จะเก็บรายละเอียดทางวิทยาศาสตร์ได้สมจริงครบถ้วนก็ตาม ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่หนังแอคชั่นอวกาศที่เน้นความมัน มียานอวกาศไล่ยิงกันเป็นหลัก แต่หาจุดที่ลงตัวพอดีระหว่างกลาง แถมยังจุดชนวนความคิดในหลายมุมมองให้กับคนดูทั่วไปที่ไม่ใช่คอไซไฟ ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ที่ได้รับจากการค้นคว้าเกี่ยวกับอวกาศ ว่ามันไร้ประโยชน์หรือไกลตัวเกินไปหรือเปล่า? วิธีการอพยพไปตั้งถิ่นฐานหรืออาณานิคมบนดวงดาวอื่น ที่จะพยายามขนคนจำนวนมากออกไปจากโลก (Plan A) หรือจะส่งไปเพียงทายาทจำนวนน้อย (ในหนังใช้เป็นตัวอ่อนหรือ Zygote ของมนุษย์จำนวนหลายพันที่แช่แข็งไว้ เพื่อให้มีความหลากหลายทางชีวภาพที่มากพอ) แล้วละทิ้งคนที่อยู่ข้างหลังไปตลอดกาล (Plan B) ไม่ว่าจะด้วยข้อจำกัดของระยะทางที่ไม่สามารถย้อนกลับมาได้ ด้วยเวลาที่เดินเร็วช้าแตกต่างกันจากสนามความโน้มถ่วง หรือจากการ “จำศีล” ระหว่างเดินทางเพื่อยืดช่วงชีวิตของคนออกไปและเป็นการประหยัดทั้งเสบียงและออกซิเจนด้วยก็ตาม

ใบปิดหนัง Interstellar เห็นยาน Endurance กำลังเข้าใกล้ช่องเปิดที่เป็นรูปทรงกลมของ "รูหนอน"​ หรือ wormhole ที่เปิดไปยังอีกกาแล็กซี่หนึ่ง

ใบปิดหนัง Interstellar เห็นยาน Endurance กำลังเข้าใกล้ช่องเปิดที่เป็นรูปทรงกลมของ “รูหนอน”​ หรือ wormhole ที่เปิดไปยังอีกกาแล็กซี่หนึ่ง

ว่ากันว่าเบื้องหลังงานนี้ นอกจากไอเดียและบทตอนต้นที่ โจนาธาน โนแลน ผู้น้องชายเริ่มเขียนไว้แล้ว ช่วงหลังของการผจญภัยที่ลอดผ่านรูหนอนไปยังกาแลกซี่อื่น คริสโตเฟอร์ โนแลนเป็นคนมาแก้บทใหม่หมด ไม่งั้นคงไม่ออกมาได้ค่อนข้างลงตัวอย่างที่เป็น ซึ่งถึงแม้ว่าจะยังมีช่องโหว่ทางวิทยาศาสตร์อีกหลายจุดที่ยังเก็บไม่หมด แต่ก็นับว่าพอจะทำใจยอมรับและดูให้สนุกได้ไม่ยาก (ตัวอย่างเช่น ตอนที่ยาน Ranger สามารถร่อนลงจอดและบินขึ้นจากดาว Miller’s ได้ด้วยเครื่องยนต์จรวดธรรมดาแบบม้วนเดียวจบ ทั้งๆ ที่ดาวนั้นโคจรอยู่ใกล้หลุมดำ และแรงโน้มถ่วงของตัวดาวเคราะห์เองก็มากกว่าโลกตั้ง 30% เทียบกับตอนที่บินออกจากโลก ยาน Ranger ถึงกับต้องใช้จรวดขับดันแบบหมดเชื้อเพลิงแล้วปลดทิ้งถึง 2 ขั้น เป็นต้น)

ส่วนคำถามหลักที่ว่า “ใคร” คือ “พวกเขา” (they) ที่เป็นผู้สร้างรูหนอนมาเปิดใกล้ๆ ดาวเสาร์ และสร้างเครื่องมือที่ในหนังเรียกว่า Tesseract (อย่าไปปนกับลูกบาศก์สีฟ้าแบบในหนัง Thor ของ Marvel นะครับ) ที่ช่วยให้สามารถสื่อสารข้อมูลของหลุมดำกลับมาที่โลกในเวลาใดๆ ก็ได้ ในเวลาที่มนุษยชาติกำลังต้องการทางรอดออกจากระบบสุริยะของเราอยู่พอดี ซึ่งในหนังก็ hint สั้นๆ ว่าน่าจะเป็นคนในอนาคต ซึ่งได้พัฒนาไปเป็นสิ่งมีชีวิตในมิติที่สูงขึ้นจากสี่มิติ (กว้าง ยาว สูง และเวลา) ที่เรารู้จักกันอยู่แล้วนั่นเอง

อีกอย่างที่มีส่วนช่วยสร้างอารมณ์ที่โดดเด่นมาก น่าจะเป็นดนตรีของ Hans Zimmer ที่เคยร่วมงานทำดนตรีประกอบหนังดังเรื่องก่อนคือ Inception ให้ Christopher Nolan มาแล้ว ซึ่งนอกจากเพลงแล้ว บางช่วงจะเห็นว่าใช้เพียงความเงียบกับโน้ตสองสามตัวซ้ำๆ สร้างบรรยากาศที่รู้สึกได้ถึงความเวิ้งว้างโดดเดี่ยวในอวกาศได้อย่างไม่น่าเชื่อ ว่ากันว่าอาจได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลจากงานนี้ด้วย

[คลิกฟังดนตรีประกอบของ Hans Zimmer จาก YouTube]

ส่วนเพลงที่ปล่อยออกมาตอน Official Trailler และบางช่วงในหนังนั้นเป็นงานของ Thomas Bergensen จากอัลบั้ม Sun ซึ่งมีผลงานแนวนี้มาหลายเรื่องหลายเพลง ที่ใช้ในหนัง Interstellar เด่นสุดคือแทรคที่มีชื่อว่า Final Frontier (ไม่เกี่ยวกับ Star Trek นะครับ 🙂 ลองฟังดูได้ที่นี่ครับ

Interstellar_film_-_Endurance_spacecraft

ยาน Endurance

ที่จริงพี่น้องโนแลนก็ยอมรับว่า Interstellar ได้แรงบันดาลใจมาจาก 2001 Space Odyssey อยู่ไม่น้อย เพราะโทนเรื่องก็คล้ายๆ กัน รวมถึง production design เช่น ยาน Endurance ที่รูปร่างไม่เพรียวลมเลย (เพราะไม่มีลมให้ต้องเพรียวในอวกาศ แค่ให้มีฟังก์ชั่นที่จำเป็นครบ มีโครงสร้างที่จะรองรับแรงขับของจรวดเพื่อพาเอาสัมภาระที่จำเป็นในการสำรวจไปด้วยได้ก็พอแล้ว) เดินทางไปท่ามกลางความเวิ้งว้างของอวกาศ หมุนรอบตัวเองเพื่อสร้างแรงโน้มถ่วงเทียม ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะยาน Discovery ของ 2001ที่มีการหมุนเพื่อสร้างแรงโน้มถ่วงแบบเดียวกัน (แต่ซ่อนอยู่ภายในรูปทรงกลม) นั้นจัดว่าเป็นต้นแบบที่ขึ้นหิ้งไปแล้ว แต่อีกมุมหนึ่งก็อาจดูคล้ายสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station – ISS) ที่ปัจจุบันอยู่ในวงโคจรรอบโลก ซึ่งประกอบด้วยโมดูลต่างๆ มาต่อกันไปเรื่อยๆ แล้วแต่จะใช้งานอะไร

อีกจุดที่น่าสนใจของหนังคือการเล่นกับ “รูหนอน” (wormhole) และหลุมดำ ซึ่งความรู้ทางฟิสิกส์ในปัจจุบันได้คืบหน้าไปบ้าง ทำให้มีความพยายามที่จะสร้างภาพให้ใกล้เคียงกับที่คาดว่าจะเห็นที่สุด ไม่ว่าจะเป็นช่องเปิดของรูหนอนที่กลายเป็นรูปทรงกลม (sphere) ไม่ได้เป็นรูปรูหรือช่องเปิดที่เป็นวงกลม (circle) เพราะมันเป็นช่องเข้าไปในมิติที่สี่ (ไม่งั้นต้องมีคำถามว่าแล้วถ้าอ้อมไปด้านหลังรูเปิดนั้นจะเห็นอะไร ซึ่ง Romilly ที่เป็นนักฟิสิกส์ก็อธิบายด้วยคำถามว่า “อะไรคือวงกลมในมิติที่สามล่ะ?” คือรูหนอนทะลุไปยังมิติที่สูงกว่า ดังนั้นช่องเปิดที่น่าจะเห็นเป็นวงกลมก็จะต้องเป็นรูปแบบของมิติที่สูงขึ้นมาอีก 1 ขั้น คือกลายเป็นทรงกลมแทน) หรือขอบฟ้าเหตุการณ์ (event horizon) คือขอบของหลุมดำที่แรงโน้มถ่วงสูงมากจนแสงหนีออกมาไม่ได้ ซึ่งในหนังชอบพูดแบบย่อๆ ว่า horizon แทบทั้งเรื่อง จะเห็นเป็นแผ่นกลมแบนๆ (disc) และมีกลุ่มแกสที่ถูกแรงโน้มถ่วงระดับมหาศาลดูดเข้าไปเรื่อยๆ เพราะมันไม่มีแสงออกมา ไม่มีความลึก ถึงแม้เราจะโคจรรอบหลุมดำ มองมุมไหนก็จะเห็นเป็นแผ่นสีดำแบนๆ (disc) เหมือนกันหมด

interstellar.black_.hole_

ดาว Miller’s โคจรรอบขอบฟ้าเหตุการณ์ (event horizon) ของหลุมดำที่เห็นเป็นแผ่นแบนๆ

ที่จริงอีกส่วนที่ทำให้ต้นทุนสร้างหนังเรื่องนี้แพงติดอันดับต้นๆ ของโลก น่าจะเป็นเพราะความพยายามที่จะถ่ายทำในฉากจริงมากกว่าการใช้ Computer Graphic (CG) รวมถึงการถ่ายทำนอกสถานที่ เพื่อความสมจริง คือใช้ CG เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งเป็น signature อย่างหนึ่งของ Chris Nolan ด้วย (และก็เป็นที่รู้กันว่าพี่แกไม่ปลื้มระบบ 3D เอาเสียเลย ถ้าไม่ดังจริงเรื่องนี้คงโดนสตูดิโอนายทุนบังคับให้ถ่ายเป็น 3D ไปแล้ว)  เช่นฉากดาว Mann’s ที่หนาวเย็นก็ไปถ่ายกันที่ธารน้ำแข็ง (glacier) ใน Iceland เป็นต้น แถมยังมีเกือบครึ่งเรื่องที่ถ่ายด้วยกล้อง iMAX และฟิล์ม 70 มม. ที่เก็บรายละเอียดภาพได้มากกว่าฟิล์มมาตรฐาน 35 มม. หรือระบบ Digital 4K ที่เทียบเท่า ทำให้ค่าใช้จ่ายด้าน logistic ของการขนกล้องและฟิล์มหนักเป็นตันน่าจะพุ่งพรวดตามไปด้วย แม้แต่ฉากยานพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศ ที่ใช้กล้อง iMAX ไปติดที่หัวเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ก็เป็นอะไรที่น่าจะให้ภาพสมจริงแต่ (น่าจะ) แพงบรรลัยทีเดียว (เค้าถึงแนะนำว่าควรไปดูระบบ iMAX เพื่อใหัได้ความอลังการตามต้นฉบับ)

งานนี้นอกจากจะเป็นการทำหนังอวกาศเรื่องแรกของโนแลนแล้ว ยังเหมือนการแก้มือของดารานำฝ่ายชายอย่าง Matthew McConaughey ที่เคยมีบทเด่นคู่กับ Jodie Foster ในเรื่อง Contact ของผู้กำกับ Robert Zemeckis หนังผจญภัยอวกาศเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน ที่สร้างจากนิยายขายดีของ Carl Sagan นักดาราศาสตร์ชื่อดัง เรื่องนี้คอไซไฟยอมรับว่าดีพอสมควร แต่กลับไม่ดังเปรี้ยงปร้างเท่าไหร่ อาจเพราะพล็อตและการจบแบบพลิกล็อคที่ไม่ค่อยลงตัวพอจะทำให้หนังดูสนุกและทำเงินได้มากนัก มาคราวนี้บท Cooper น่าจะส่งให้เค้าเทียบชั้นดาราใหญ่ได้ไม่ยาก ในขณะที่บทของ Anne Hathaway เรื่องนี้จัดว่าเรื่อยๆ ไม่โดดเด่นมากนัก แต่ที่น่าสนใจกลับไปอยู่ที่ Murph ตอนเด็ก ที่เล่นโดย Mackenzie Foy ซึ่งดราม่าได้ดีทีเดียว (คหสต. นะครับ)

สรุปว่า Interstellar เป็นหนังที่ดูสนุก ไม่ว่าคุณจะเป็นคนดูทั่วไป หรือคอไซไฟระดับที่จับผิดหนังได้เป็นฉากๆ ก็ตาม และก็น่าจะเป็นงานระดับ masterpiece ของคริสโตเฟอร์ โนแลน อีกชิ้นหนึ่ง สังเกตมั้ยครับว่าระยะหลังต้องอาศัยผู้กำกับคลื่นลูกใหม่มาปลุกกระแสไซไฟกัน ไม่ว่าจะเป็น J.J. Abrams ที่มารีเมค Star Trek และ Star Wars เป็นต้น ซึ่งทำหนังออกมาแล้วได้ทั้งเงินทั้งกล่อง ล่าสุดก็มีข่าวว่า Jonathan Nolan ผู้เขียนบทเรื่องนี้ได้ไปรับงานปลุกกระแสหนังมินิซี่รี่ส์ “สถาบันสถาปนา” (Foundation Trilogy) ของ Isaac Asimov ปรมาจารย์ไซไฟหนึ่งในสองของโลก (อีกคนคือ Arthur C. Clarke ผู้เขียน 2001 นั่นเอง) ที่ทางสตูดิโอ Fox ซื้อลิขสิทธิ์ทิ้งไว้ตั้งแต่หลังมรณกรรมของ Asimov เมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว คงต้องรอดูกันว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

ปล. ใครที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมของ Interstellar แนะนำให้ลองอ่านกระทู้ในเว็บต่างๆ รวมถึง pantip.com ดูตามนี้เลยครับมีให้อ่านเพียบ!  [Interstellar (ภาพยนตร์) – Pantip]

ปล. 2: ส่วนใครสนใจนิยายชุด “สถาบันสถาปนา” ลองไปหาหนังสือเก่าๆ ของสำนักพิมพ์ ออบิท/โปรวิชั่น ที่พิมพ์เมื่อปี 2001 มาอ่านกันได้นะครับ [ดูรายชื่อได้ที่นี่] ที่จริงอยากจะบอกว่า “ขอขายของหน่อย” อยู่เหมือนกัน แต่เสียดายที่สำนักพิมพ์ไม่มีขายแล้วอะ 🙁