กว่าจะมาเป็น “สถาบันสถาปนา และปฐมภพ”

ไอแซค อาซิมอฟ ได้เริ่มเขียนเรื่องในชุด “สถาบันสถาปนา” ขึ้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 1941 ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุเพียง 21 ปี และโลกก็ยังอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้อาซิมอฟเล่าไว้ว่า ขณะที่นิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Nightfall (สนธยาเยือน) ของเขากำลังจะได้รับการตีพิมพ์นั้น จอห์น ดับเบิลยู แคมป์เบล (John W. Campbell) บรรณาธิการของวารสาร Astounding Science Fiction ได้ขอให้เขาวางพล็อตสำหรับนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องต่อไปไว้เลย ซึ่งเขาเองก็ยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะเขียนอะไรดี จึงใช้วิธีสุ่มหยิบเอาหนังสือมาเปิดเล่น และเขาก็เห็นภาพที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในยุคของจักรวรรดิโรมัน ซึ่งทำให้เขาเกิดความคิดขึ้น…

แต่อย่างไรก็ตาม หากปราศจากเสียซึ่งความช่วยเหลือของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์อีกสองคนคือ แคมป์เบล และ เฟรดริค พอล (Frederik Pohl) แล้ว นิยายวิทยาศาสตร์ชุดสถาบันสถาปนานี้ก็คงไม่ปรากฏออกมาสู่บรรณภพ หรืออาจปรากฏแต่ก็เป็นในรูปแบบที่ผิดกัน

ในตอนต้น สถาบันสถาปนาเป็นนิยายชุดที่แบ่งเป็นเรื่องย่อยๆ ตีพิมพ์ลงในวารสารเป็นตอนๆ ตัวอาซิมอฟเองนั้นหลังจากเขียนเรื่องแรกไปแล้ว เมื่อจะเริ่มเขียนเล่มที่สองเขาก็เริ่มพบกับทางตัน คือจินตนาการไม่ออกว่า จะเดินเรื่องต่อไปอย่างไรดี เฟรดริค พอลได้พูดอะไรบางอย่างกับเขา (ซึ่งตัวอาซิมอฟเองก็จำไม่ได้เหมือนกันว่าอะไร) ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องที่สอง และต่อๆ มาในที่สุด

ในตอนที่ Astounding Science Fiction ลงตีพิมพ์นิยายชุดสถาบันสถาปนาอยู่นั้น แคมป์เบลซึ่งเป็นบรรณาธิการวารสารนี้อยู่ เป็นคนช่วยกระตุ้นและออกแนวความคิดในการเขียนเรื่อง และโดยเฉพาะเมื่อเขากับอาซิมอฟได้ร่วมกันสร้างแนวคิดเกี่ยวกับวิชาอนาคตประวัติศาสตร์ ซึ่งได้ถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบหลักในเรื่อง ยิ่งไปกว่านั้นในตอนหลังๆ อาซิมอฟเริ่มเบื่อหน่ายกับการเขียนเรื่องในชุดนี้ เขาก็เลยพยายามจะจบเรื่องลงโดยทำการเฉลยปัญหาเกี่ยวกับที่ตั้งของสถาบันสถาปนาแห่งที่สอง แต่แคมป์เบลไม่ชอบใจ เขาบังคับให้อาซิมอฟเปลี่ยนตอนจบ และสัญญาว่าจะเขียนเรื่องในชุดนี้อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งนั่นก็คือบทสุดท้ายของสถาบันสถาปนาชุดไตรภาค (3 เล่มแรก)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปกสถาบันสถาปนาเล่ม 1-7 ที่อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์โดยโปรวิชั่น

 

อาซิมอฟเขียนเรื่องในชุดนี้ทั้งหมดเป็นระยะเวลาถึงแปดปี และต่อมาก็มีสำนักพิมพ์มาติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ไปจัดพิมพ์เป็นหนังสือปกแข็ง ซึ่งทางผู้จัดพิมพ์เองได้ติงมาว่าตอนต้นเรื่องนั้นเริ่มขึ้นอย่างห้วนๆ เกินไป และชักจูงให้อาซิมอฟแต่งเรื่องสั้นๆ ขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นบทนำเข้าสู่เรื่องทั้งหมด ดังนั้นภาคแรกของหนังสือชุดสถาบันสถาปนานั้นจึงเป็นเรื่องที่เขียนขึ้นหลังสุด (ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าคำพูดของฮาริ เซลด็อน ในตอนที่จะจากกับกาอัล ดอร์นิคนั้น มีอยู่ประโยคหนึ่งซึ่งได้บ่งบอกที่ตั้งของสถาบันสถาปนาแห่งที่สองเอาไว้ ) รายละเอียดของเรื่องย่อยต่างๆเหล่านี้มีปรากฏแล้วในหนังสือ สถาบันสถาปนา เล่ม 1 (ที่จัดพิมพ์โดยโปรวิชั่นเช่นกัน)

ในปี 1966 มีการแจกรางวัลฮิวโก้ (Hugo Awards) ให้กับนิยายจำพวก Science Fiction และ Fantasy ประเภทชุดที่ขายดีที่สุด ซึ่งหมายถึงว่าเรื่องที่เข้าข่ายนั้นจะต้องเป็นเรื่องที่ต่อกันอย่างน้อยสามเล่ม รางวัลฮิวโก้ประเภทนี้มีขึ้นในปี 1966 เป็นครั้งแรกและครั้งเดียว นิยายวิทยาศาสตร์ชุดสถาบันสถาปนา ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลพร้อมกับเรื่องอื่นๆ รวมทั้ง Lord of the Rings ของ เจ.อาร์.อาร์. โทลเคี่ยน ผลปรากฏว่านิยายชุดสถาบันสถาปนาได้รับรางวัลไป (เรื่องชุด Lord of the Rings นี้เป็นเรื่องในแนวแฟนตาซีที่ดังมากเรื่องหนึ่ง ปัจจุบันได้รับการแปลและจัดพิมพ์แล้วรวมทั้งนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วย)

หลังจากนั้นต่อมาอีกสี่สิบปี นับจากอาซิมอฟได้เริ่มเขียนนิยายชุดสถาบันสถาปนา 3 เล่มแรกขึ้นมา เขาก็ได้กลับมาเขียนภาคต่อของนิยายชุดสถาบันสถาปนานี้อีกครั้งหนึ่ง……

ข้อสังเกต

ในเล่มที่ 4 นี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ทั้งจากของอาซิมอฟเองและคำวิจารณ์อื่นๆ อยู่หลายประการ ซึ่งจะผิดถูกประการใดคงต้องใช้วิจารณญาณของผู้อ่านตัดสินเอง เช่น

  • อาซิมอฟเล่าว่าในยุคที่เขาเริ่มเขียนนิยายวิทยาศาสตร์นั้น ความรู้ของมนุษย์เราเกี่ยวกับดาราศาสตร์ยังอยู่ในขั้นพื้นฐานเมื่อเทียบกับที่เรารู้ในปัจจุบัน ในเรื่องใหม่นี้จึงมีการกล่าวอ้างอิงสิ่งที่ค้นพบใหม่เช่น หลุมดำ เป็นต้น และนอกจากนั้นอาซิมอฟยังได้สอดแทรกเรื่องของเครื่องคอมพิวเตอร์เข้าไปด้วย ซึ่งในสมัยที่เขาเขียน ‘สถาบันสถาปนา’ เล่มแรกขึ้นมานั้น คอมพิวเตอร์เพิ่งจะถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเมื่อเขาเขียนนิยายชุดนี้ไปได้ครึ่งหนึ่งแล้ว และจะเห็นได้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านนี้ในเรื่องเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก (เร็วจนกระทั่งแผนการเซลด็อนเองก็ยังคาดไม่ถึง)
  • ในเรื่องนี้มีการกล่าวถึงบทบาทของหุ่นยนต์เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นครั้งแรก ซึ่งเรื่องก่อนๆ ในชุดของสถาบันสถาปนาไม่เคยมีเลย
  • ลักษณะการเคลื่อนไหวของกระแสประวัติศาสตร์ ที่สามารถลดรูปมาอยู่ในเทอมของคณิตศาสตร์ได้นั้น อาซิมอฟเองก็ได้แนวคิดมาจากเรื่อง การเคลื่อนที่แบบบราวเนี่ยน (Brownian motion) ซึ่งใช้อธิบายการเคลื่อนที่ของโมเลกุลจำนวนมากๆ ทว่าในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่าประชากรของสากลจักรวาลจะมีมากถึง 1021 คน (ล้าน3) ก็ยังไม่มากพอที่จะทำการคำนวณในทำนองเดียวกันได้
  • พื้นเรื่องที่บอกไว้ว่า วิทยาการด้านอนาคตประวัติศาสตร์ไม่สามารถพยากรณ์การกระทำ หรือเคลื่อนไหวของปัจเจกชนได้นั้น ในปัจจุบันวิชาจิตวิทยาสามารถคาดเดาพฤติกรรมของมนุษย์ภายใต้สิ่งเร้า ตลอดจนศึกษาบุคลิกภาพและแนวโน้มในสิ่งที่เขาจะทำภายใต้สภาวการณ์ต่างๆ ได้ในระดับหนึ่งแล้ว (อาซิมอฟก็เลยวางเรื่อง ให้มีการประยุกต์วิชาอนาคตประวัติศาสตร์ไปใช้กับปัจเจกชนขึ้นมาบ้าง)
  • ฮาร์แลน เอลลิสัน นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ในกลุ่มที่จัดว่าเป็นคลื่นลูกใหม่หรือ New Wave ผู้ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับอาซิมอฟ มีความเห็นว่า ที่จริงแล้ว แรงบันดาลใจที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องสถาบันสถาปนานั้นไม่ใช่เรื่องการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันหรอก หากแต่เป็นเพราะความเป็นคนเชื้อสายยิวของตัวอาซิมอฟเอง ความหมายที่แท้จริงของสถาบันสถาปนา ก็คือการที่ชาวยิวอพยพหนีออกจากอำนาจของฟาร์โรห์แห่งอียิปต์ต่างหาก (การอพยพของนักวิชาการไปที่พิภพเทอร์มินัส เทียบได้กับการที่ชาวยิวอพยพตามโมเสสไป) อาซิมอฟเองก็เคยบอกกับเอลลิสันว่า “มันไม่ใช่ความบังเอิญหรอกที่คำว่า Mule (มโนมัย) กับ Moses จะขึ้นต้นด้วยตัวอักษร M เหมือนๆ กัน” แม้แต่ชื่อตัวเอกของเรื่องในเล่ม 4 นี้คือ โกลาน (เทรวิซ) ก็เป็นชื่อของบุคคลในพระคัมภีร์ตอนที่โมเสสอพยพหนีจากฟาโรห์

สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับนิยายเล่มใหม่ในชุดสถาบันสถาปนา ซึ่งก็หวังว่าสิ่งที่เราได้ค้นคว้ามาเพิ่มเติมนี้ คงจะมีส่วนเพิ่มอรรถรสในการอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ชุดนี้แก่คุณผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย……