ไอทีเป็น ?หนทาง? ไม่ใช่ ?ปลายทาง? ? ตอนที่ 1

กลางวันของวันนี้ผมได้รับเชิญไปพูดในหัวข้อ ?ทันโลก & ออนไลน์ เรื่องง่ายใกล้ๆ ตัว? ให้ กับสมาชิกสโมสร Rotary สระปทุมฟัง รายละเอียดรวมๆ ก็คือ เป็นเรื่องของการที่เราต้องตามให้ทันโลก โดยการออนไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวทุกคนและไม่ยากเกินไป แค่ทำใจให้ชอบเท่านั้น (ไม่ใช่ฝืนใจหรือนั่งทำใจแต่ไม่ทำอะไรต่อ 😉

ประเด็นหนึ่งที่ ผุดขึ้นมาในระหว่างที่เตรียมหัวข้อที่จะพูดก็คือ ทำไมคนยุคปัจจุบันต้องออนไลน์? เหตุก็เพราะข้อมูลความรู้ทั้งหลายนั้นหาได้จากเน็ต และหาได้ในแบบ ?พอดีคำ? คือในเวลาที่ต้องการและในปริมาณที่เหมาะสมกับการใช้งาน ไม่ใช่ต้องค้นต้องอ่านกันเป็นตั้งๆ เพื่อเพียงจะหาข้อมูลปลีกย่อยอะไรบางอย่าง เช่นข้อมูลที่ได้จากบริการสารานุกรม เช่น Wikipedia, บริการ Search เช่น Google, Yahoo! หรือ Bing นอกจากนี้เรายังต้องพึ่งพาบริการออนไลน์อีกหลายอย่าง ทั้งอีเมล์ แผนที่ แชร์ไฟล์หรือแบ่งปันข้อมูล ยังไม่รวมถึงหนัง เพลง วิดีโอ ฯลฯ ซึ่งบ้างก็เป็นบันเทิง บ้างก็เป็นสาระ ปะปนกันไป

เรื่องเริ่มยุ่งตรงที่การออนไลน์นั้นต้องใช้ไอที แต่ไอทีนั้นซับซ้อนขึ้นทุกทีจนคนทั่วไปตามไม่ทัน จึงเกิดมีแอพพลิเคชั่นบนเว็บ หรือ web application ขึ้นมา ซึ่งสามารถใช้งานภายใต้บราวเซอร์อย่าง Internet Explorer, Firefox, Chrome และ Safari ได้โดยไม่ผูกกับเครื่อง จะใช้ผ่านคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ เช่นมือถือ (สมาร์ทโฟน), คอมพิวเตอร์แบบแท็บเบล็ต (tablet) หรืออื่นๆ จากที่ไหนก็ได้ และไม่ว่าเครื่องนั้นจะเป็น Windows, Mac หรือระบบใดๆ แถมยังมีหน้าตาที่เป็นมิตร มีการอธิบายต่างๆอยู่ในตัวในระดับหนึ่ง ทำให้ใครก็พอจะใช้ได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน แถมยังไม่ต้องคอยดูแลเครื่องและข้อมูลที่เครื่องของเราเอง ไวรัสลงก็ล้างเครื่องใหม่ ฮาร์ดดิสก์พังก็เปลี่ยนใหม่ ข้อมูลบนบริการเหล่านั้นจะยังอยู่ครบตามเดิม แต่เราไม่สามารถจะรู้ เข้าใจ หรือควบคุมข้อมูลเหล่านั้นได้เต็มที่ เห็นได้แต่เพียงลางๆ ว่าระบบสามารถให้บริการอะไรได้บ้าง แต่ทำยังไง ใช้เครื่องที่ไหน ใครดูแล ฯลฯ เราบอกไม่ถูก จึงเรียกกันว่าเป็นเมืองในหมอก หรือการประมวลผลในกลุ่มเมฆ (Cloud computing) ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คืออีเมล์ ซึ่งแต่เดิมสมัยก่อนผมเคยเขียนหนังสืออธิบายการใช้อีเมล์บนเครื่องของเรา (เช่น Outlook Express, Windows Mail) เป็นหลัก แล้วบอกว่ามีเว็บเมล์ (อีเมล์ที่เปิดผ่านทางหน้าเว็บไซท์) เป็นทางเลือก แต่ปัจจุบันนี้ต้องอธิบายใหม่แบบกลับหัวหลับหางกันว่า อีเมล์คือนั้นไซร้ที่แท้แล้วก็คือเว็บเมล์ ?!? ส่วนโปรแกรมอีเมล์ที่โหลดจดหมายแต่ละฉบับมาเก็บไว้ที่เครื่องของเราเลยนั้น เป็น “ทางเลือก” ถ้าคุณต้องการเก็บข้อมูลไว้บนเครื่องของตัวเองแทน

ภาพอธิบายการทำงานของบริการที่อยู่บน Cloud อย่างหนึ่ง คือ Shazam ซึ่งเป็นบริการที่ “ฟัง” เสียงเพลงจากสมาร์ทโฟนของเรา แล้วส่งไปค้นหาจากรายชื่อเพลงทั้งหมดในโลกเท่าที่เว็บที่ให้บริการนี้รวบรวมไว้ (มีเพลงไทยด้วย ถึงจะไม่ครบก็ตาม) แล้วนำผลการค้นหามาแสดงเป็น ชื่อเพลง พร้อมชื่อศิลปิน ปกอัลบั้ม และอื่นๆคล้ายๆ Google ที่เป็น search engine แต่แทนที่จะใช้ คำหรือ keyword ก็เป็นการ search จากเสียงแทน? บริการประเภทนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำบนเครื่องของเราเอง เพราะไม่สามารถจะรวบรวมข้อมูลมากมายมหาศาลไว้ได้
 
 
 

แต่การพึ่งพาบริการบน Cloud ก็มีข้อจำกัดที่ต้องอาศัยการเชื่อมต่อออนไลน์ที่ความเร็วสูงพอควร จึงจะใช้งานได้ราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการเชื่อมต่อจากอุปกรณ์มือถือ ไม่งั้นจะทำอะไรได้ยากหรือช้าเกินทน ถึงแม้จะมีการเพิ่มความสามารถของแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ให้เก็บข้อมูลไว้ที่ เครื่องของผู้ใช้เองบางส่วน (local cache) เพื่อเพิ่มความเร็วและแก้ปัญหากรณีการเชื่อมต่อขาดหายเป็นครั้งคราว แต่สุดท้ายก็ต้องเชื่อมต่อให้ได้อยู่ดี นี่เป็นเรื่องใหญ่ชนิดคอขาดบาดตายที่บ้านเรายังไม่มีระบบ 3G ใช้ และ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีคนพูดทำนองว่าเป็นเรื่องที่คนทั่วไปยังไม่จำเป็นต้องใช้ การรับส่งข้อมูลความเร็วสูง ฟังแล้วก็เหมือนกับพูดเมื่อซัก 6-7 ปีก่อนว่าคนทั่วไปไม่จำเป็นต้องมีโทรศัพท์มือถือ นอกจากคนทำธุรกิจเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันคงไม่ต้องอธิบายว่าแนวคิดอย่างนั้นฟังแล้วรู้สึกเป็นอย่างไรใน ยุคนี้ (ความจริงเรื่องทำนองเดียวกันแต่เก่ากว่านั้นก็ยังพอหาตัวอย่างได้ เช่นตอนที่ IBM ออกเครื่อง PC เมื่อสามสิบปีก่อน คู่แข่งรายใหญ่คือ DEC ยังบอกว่าไม่เห็นความจำเป็นที่คนทั่วไปจะต้องมีคอมพิวเตอร์ไว้เป็นของส่วน ตัวหรือประจำบ้าน อะไรทำนองนั้น แล้วปัจจุบันนี้ใครรอดใครล่วงลับก็เห็นๆ กันอยู่)

[ยังไม่จบครับ ตอนหน้าจะพูดประเด็นการเปลี่ยนแปลงจาก Web application ไปเป็น Mobile application และปัญหาที่ตามมา เช่น เรื่องของความเป็นส่วนตัว (privacy) และอื่นๆ.. to be continued ครับ]

?