ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับ E-book (1)

[ภาพจาก e-book “สิ่งมหัศจรรย์ธรรมดา” โดย นิ้วกลม สำนักพิมพ์มติชน]

เมื่ออุปกรณ์อ่าน e-book เริ่มแพร่หลาย และสำนักพิมพ์/ร้านออนไลน์เริ่มทำหนังสือออกจำหน่ายในรูปแบบ e-book มากขึ้น ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ e-book หลายๆ อย่างที่คาดหวังหรือเชื่อกันมาแต่เดิมก็เริ่มกระจ่างชัดขึ้น อาทิเช่น

1. E-book จะทำให้หนังสือถูกลงได้หลายๆ เท่า เพราะสำนักพิมพ์จะขาย e-book ตรงให้ลูกค้าเลย

E-book ไม่ได้ทำให้หนังสือถูกลงมากถึงขนาดหลายๆ เท่าอย่างที่เคยคิดกัน เราเริ่มเห็นกันแล้วว่า ราคาหนังสือในรูปแบบ e-book ถูกกว่าฉบับพิมพ์บนกระดาษเพียงเล็กน้อย เช่น 20-30% (และมีแนวโน้มว่าอาจจะเพิ่มขึ้นหากยอดขายยังไม่สูงอย่างที่คาดหวังกัน) ทั้งนี้เพราะต้นทุนที่ลดลงของสำนักพิมพ์ มีแต่ส่วนของค่าพิมพ์ ค่าเพลท+แยกสีในระบบออฟเซ็ท และที่เป็นสัดส่วนมากที่สุดก็คือค่ากระดาษเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแค่ 20-30% ของราคาปกเดิม แต่ค่าใช้จ่ายหลักคือค่าจัดจำหน่ายผ่านร้านค้าออนไลน์ไม่ได้ถูกลงมากนัก คืออยู่ราว 30-40% ต่างกันไปตามระบบของร้านและแพลทฟอร์มที่ใช้ (เช่น ในระบบ iOS ของ Apple มีการคิดหัก 30% เปอร์เซ็นต์ซึ่งสูงกว่าระบบอื่น แต่ก็แลกมาด้วยฐานลูกค้าที่มีแนวโน้มจะควักกระเป๋าซื้อในสัดส่วนที่มากกว่า) รวมๆ แล้วค่าใช้จ่ายส่วนนี้ใกล้เคียงหรือถูกกว่าการจัดจำหน่ายหนังสือฉบับพิมพ์เพียงเล็กน้อย หรือบางกรณีอาจแพงกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะผู้ขายหรือร้านออนไลน์ก็เห็นว่าน่าจะขอแบ่งส่วนที่สำนักพิมพ์ลดต้นทุนการพิมพ์ได้มาชดเชยค่าใช้จ่ายในการพัฒนาและดูแลระบบร้่านออนไลน์ของตนบ้างจากเดิมที่เคยคิดกันว่าเมื่อสำนักพิมพ์แต่ละราย ทำหนังสือในรูปแบบ e-book แล้วขายโดยการให้ดาวน์โหลดตรงไปยังอุปกรณ์ของผู้ซื้อเลย ความเป็นจริงก็คือผู้อ่านยังนิยมที่จะไปเลือกจากร้านออนไลน์ที่รวมหลายๆ สำนักพิมพ์มากกว่า อย่างน้อยก็ลดความยุ่งยากจากการล็อกอิน ใส่เลขที่บัตรเครดิต ฯลฯ รวมทั้งความวุ่นวายจากการโหลดหนังสือเดิมซ้ำกรณีเปลี่ยนเครื่อง เช่น แท็บเบล็ต เป็นรุ่นใหม่ ซึ่งถ้าซื้อจากร้านออนไลน์ไม่กี่แห่งก็ง่ายกว่าซื้อจากหลายร้อยสำนักพิมพ์ ซึ่งระบบร้านออนไลน์เหล่านั้นก็ต้องมีต้นทุนในการพัฒนาระบบ เขียนโปรแกรม ดูแลเซิร์ฟเวอร์ให้ทำงานได้ตลอดเวลา ค่าแปลงระบบป้องกันก๊อปปี้หรือ DRM (Digital Right Management) และค่ารับส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยความเร็วสูงพอที่ลูกค้าผู้ซื้อและดาวน์โหลดหนังสือจะไม่ต้องรอนานเกินไป (ค่าแบนด์วิธ) ผลก็ออกมาอย่างที่ว่าคือค่าใช้จ่ายที่หน้าร้านออนไลน์เหล่านี้คิดจากสำนักพิมพ์เลยไม่ลดลงกว่าหน้าร้านแบบเดิมสภาพการณ์นี้น่าจะคงอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง เพราะมีผู้ให้บริการร้านออนไลน์สำหรับ e-book ในเมืองไทยมากมายกว่า 13-14 รายที่เข้ามาแย่งเค้กชิ้นนี้ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปอีกระยะหนึ่งน่าจะมีการปรับตัว รายที่ไม่ประสบความสำเร็จอาจต้องปิดตัวลงหรือรวมกิจการกับรายอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลงได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้รับรองว่าจะมาคิดเงินกับสำนักพิมพ์ถูกลงนะครับ ;([ยังมีต่อครับ]