App เอะอะอะไรๆก็แอ็พ ไม่ใช้โปรแกรมกันแล้วหรือ?

สำหรับมือใหม่ที่เริ่มเข้ามาใช้แท็บเบล็ตหรือสมาร์ทโฟน คำถามยอดฮิตอันหนึ่งคือ “แอพ (app) คืออะไร ต่างจากโปรแกรมอย่างไร ทำไมอะไรๆก็ต้องใช้แอพ?” วันนี้เราจะมารู้จักตัวตนของแอพกันครับ

App ย่อจาก application ความจริงมันก็คือโปรแกรมชนิดหนึ่งนั่นเอง แต่มักจะหมายความเจาะจงถึง mobile application ที่ทำงานในอุปกรณ์พกพาจำพวกสมาร์ทโฟนหรือแท็บเบล็ตนั่นเอง ?(ส่วนพวกที่ใช้บนคอมพิวเตอร์ระบบอื่นๆ มันกำลังจะมาแรงในปีนี้ครับ พร้อมกับ mac ?app store ?ที่ออกมาแล้ว และ Windows 8 ที่กำลังจะออก) โดยลักษณะที่ปรากฏก็จะเป็นไอคอนหรือปุ่มให้เรียกใช้ได้เลย ดังนั้นในมุมมองนี้แอพกับโปรแกรมก็ไม่ต่างกัน

Screenshot_2012-08-08-13-18-19

อีกมุมหนึ่ง แอพหลายๆอย่างช่วยทำงานแทนบราวเซอร์ เพราะการใช้บราวเซอร์เปิดเว็บไซท์เพื่อแสดงผลบนอุปกรณ์พกพา (ที่บางทีเรียกรวมๆ ว่า Mobile Internet Device หรือ MID) นั้นบางทีจะได้ตัวหนังสือเล็กมาก มีปุ่มมีช่องให้ป้อนหรือแสดงข้อมูลที่สัดส่วนไม่เหมาะสมกับหน้าจอเล็กๆ ทำงานก็ช้าเพราะหน้าเว็บมักจะออกแบบมาสำหรับคอมพิวเตอร์ที่มักต่อเน็ตผ่าน Wi-fi เป็นหลัก จึงมีการรับส่งข้อมูลปริมาณมากโดยไม่จำเป็น ?พอไปรับส่งผ่านระบบ Mobile หรือ 3G เข้าก็อืดอาดมาก แถมบางทียังมีข้อจำกัด เพราะอุปกรณ์เหล่านี้ไม่แรงพอที่จะรันคำสั่งในหน้าเว็บ (HTML script ต่างๆ) ได้เร็วหรือครบถ้วนเท่ากับบนคอมพิวเตอร์ เช่น อัพโหลดไม่ได้ รันสคริปต์ไม่ไหว ฯลฯ?ดังนั้นหลายแอพจึงทำมาแก้ไขตรงนี้ โดยเขียนมาให้ประมวลผลบนตัวเครื่องเอง แล้วติดต่อกับเว็บนั้นๆ เพื่อรับหรือส่งข้อมูลในการแสดงผลบนหน้าจอที่สะดวกในการใช้งานกว่าบราวเซอร์

หน้าจอเว็บแบบ Mobile ของแอพโรงหนัง Major Cineplex

หน้าจอแอพ Major Movie บน iPhone จะมีชื่อโรงที่อยู่ใกล้ๆ ให้เลือกเลย

นอกจากนี้แอพยังสามารถดึงข้อมูลบางอย่างเพิ่มเติมจากเครื่องอุปกรณ์มือถือนั้นๆ ได้ด้วย เช่น แสดงรายชื่อโรงหนังในบริเวณใกล้เคียงกับที่คุณอยู่ โดยดึงข้อมูลจาก GPS แทนที่จะแสดงรายชื่อโรงหนังทั่วประเทศให้คุณมาเลือกหาอีกที เป็นต้น

แต่มุมมองที่สำคัญที่สุดก็คือ แอพโดยทั่วไป (ไม่นับแอพ “เถื่อน” ซึ่งเดี๋ยวจะอธิบายอีกทีว่าเป็นยังไง) ล้วนแต่บังคับให้โหลดจาก App store ที่ดำเนินการโดยเจ้าของระบบปฏิบัติการหรือ OS ของอุปกรณ์นั้นๆ เช่น Apple AppStore สำหรับ iOS และ Mac OS, Google Play store สำหรับ Android เป็นต้น ซึ่งใครก็ตามที่เอาแอพมาให้โหลดผ่านบริการหรือร้านขายแอพออนไลน์นี้จะต้องเสียค่าหัวคิวหรือส่วนแบ่งรายได้จากการขาย มากน้อย 10, 20, 30% ก็ว่ากันไป (ส่วนแอพที่แจกฟรีมักจะไม่คิดหรือคิดค่าฝากเล็กน้อยพอเป็นพิธี) ตรงนี้กลายเป็นรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำให้กับเจ้าของระบบ ไม่น้อยไปกว่าการขายเครื่องหรือระบบปฏิบัติการเลย แอปเปิลคุยว่าจ่ายเงินส่วนแบ่งค่าแอพให้นักพัฒนาโปรแกรมไปหลายพันล้านดอลลาร์ ถ้าคิดมุมกลับแล้วแอปเปิลก็ได้รายได้จากตรงนี้ไปหลักพันหรือหมื่นล้านดอลลาร์แล้วเช่นกัน แต่ขณะเดียวกันก็ถือเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของร้่านออนไลน์ที่ปล่อยให้ดาวน์โหลดแอพนี้ที่จะเล่นบทผู้คุ้มกฏ ไม่ให้มีแอพนอกรีตนอกรอย ไวรัส โทรจัน หรือแอพที่ไม่เหมาะสม ละเมิดลิขสิทธิ์ ขัดต่อศีลธรรม หรือเป็นเครื่องมือในการเจาะระบบ ขโมยข้อมูล ฯลฯ เข้่ามาอยู่ในแอพสโตร์ของตน รวมทั้งการสกรีนออกหรือคัดออกเป็นระยะๆ

นั่นเองจึงเป็นที่มาของบรรดาแอพ “เถื่อน” คือพวกที่เข้าแอพสโตร์ปกติไม่ได้ ?ไม่ว่าจะเป็นเพราะขัดต่อเงื่อนไขกฎเกณฑ์ที่เจ้าของแอพสโตร์วางไว้ หรือเพราะแค่ไม่อยากเสียค่าหัวคิวให้กับเจ้าของแอพสโตร์เท่านั้น ซึ่งก็จะต้องมีวิธีการต่างๆ เป็นพิเศษในการดาวน์โหลดหรือติดตั้งเข้าไปในอุปกรณ์ต่างๆ