Star Trek – เมื่อความจำเป็นเป็นบ่อเกิดของการประดิษฐ์ (Necessity is the mother of invention)

วันก่อนคุยหนังเรื่อง Sci-Fi ชุด Foundation ที่กำลังฉายสตรีมมิ่งทาง Apple tv+ แล้วมีคนสนใจพอสมควร ด้วยแง่มุมที่แปลกใหม่ในธีมหลักของเรื่อง ที่ใช้คณิตศาสตร์มาทำนายพฤติกรรมในอนาคตของฝูงชนที่มีจำนวนมากขนาดล้านล้านคนได้ (ในเรื่องเรียกว่า Psychohistory หรือเรียกเป็นไทยให้เก๋ไก๋ว่า “อนาคตประวัติศาสตร์”) ผมเลยนึกถึงอีกตัวอย่างหนึ่งที่กลายเป็น signature ของ Sci-Fi ซีรี่ส์ดังอย่าง Star Trek ที่คนจดจำได้มาตั้งแต่กว่า 50 ปีก่อนแล้ว นั่นคือการใช้เครื่อง Transporter เปลี่ยนคนให้เป็นลำแสงแล้วส่งไปอีกที่นึงได้

หลายคนอาจนึกถึงการใช้ CG หรือ Computer Graphics ที่แพร่หลายอย่างที่ทำกันในปัจจุบัน แต่ในความจริงแล้วภาพคนหรือสิ่งของถูกแปลงเป็นพลังงานบนแท่นส่งหรือ Transport pad ที่ดูแสนจะไฮเทคนั้นที่ปรากฏใน Star Trek – The Original Series (TOS) นั้นความจริงได้มาจากการถ่ายโคลสอัพฝอยโลหะและยาเม็ดฟู่ละลายน้ำที่หาได้ในยุค ‘60 ซึ่งยังไม่มีคอมพิวเตอร์ให้ใช้สร้างภาพใดๆ ต่างหาก เรื่องเกิดขึ้นเพราะตอนจะเริ่มถ่ายทำภาพยนตร์โทรทัศน์ชุดนี้ ทีมงานไม่มีงบพอที่จะทำหุ่นจำลองในการเอายาน Enterprise ทั้งลำร่อนลงบนดาวเคราะห์ใหม่ๆ ทุกตอนในเรื่อง หรือแม้แต่จะทำยานขนส่งขนาดเล็ก (shuttlecraft) ให้ขนลูกเรือลงไปสำรวจในแต่ละตอนก็ยังงบไม่พอ เข้าใจว่าสมัยนั้นคงต้องถ่ายหุ่นจำลองกันในระบบ stop motion คือถ่ายทีละเฟรมแล้วขยับหุ่นจำลองไปทีละนิด นึกถึงยานบินของหน่วยวิทยะในหนังอุลตร้าแมนสู้กับสัตว์ประหลาดต่างดาว หรือเครื่องบินรบเข้ายิงถล่มก็อดซิลล่าในหนังญี่ปุ่นเมื่อสมัยหลายสิบปีก่อนน่าจะได้ความสมจริงใกล้เคียงกัน (คือออกกระตุกนิด ๆ ไม่ค่อยเนียนแหละ)

ทีนี้พอเป็นแบบนี้ Star Trek ฉบับ Original ก็เลยมีการเขียนบทใหม่ให้ลูกเรือสามารถลงไปโผล่ที่ดาวต่างๆ และกลับขึ้นมาได้ในแบบทันทีทันใด โดยใช้เครื่องมือสลายอะตอมของร่างกายจากบนยานและส่งไปประกอบกันใหม่บนดาวเคราะห์เกือบจะในทันที โดยเวลาส่งก็มี effect ฝุ่นนิดๆ แสงวาบๆ หน่อยด้วยเทคนิคถ่ายจากยาเม็ดฟู่ที่บอกมาน่ะแหละ ทำให้ลดต้นทุนการถ่ายทำไปได้มหาศาล และดูดีพอสมควรบนจอแก้ว นอกจากนี้ยังกลายเป็นสิ่งที่คนจดจำได้หรือ signature ของ Star Trek ไปเสียอีก (นอกเหนือจากลูกครึ่งต่างดาวอย่าง Mr.Spock หูแหลม และยาน Enterprise ที่รูปร่างหลักๆ เหมือนจานบินแต่ดันติดท่อไอพ่นแล้ว) และถูกนำมาใช้ในซีรี่ย์ยุคใหม่ของ Star Trek ทุกเรื่องจนถึงล่าสุดอย่าง Discovery และ Picard (จะว่าไปก็คล้ายๆ กับการที่กระบี่แสงหรือ Light Sabre เป็น icon หรือ signature ของ Star Wars นั่นแหละ)

ที่จริง Sci-Fi บางเรื่องก็เคยแตะประเด็นแปลงคนเป็นพลังงานแบบนี้มาแล้ว แต่ออกไปในทางลบ คือนำเสนอความน่าสยดสยองของการคืนสภาพที่ไม่สมบูรณ์ เช่นจากการปนเปื้อน DNA ของแมลงวันในระหว่างการส่ง แบบในภาพยนตร์เรื่อง The Fly แต่ Star Trek นำเสนอในแง่ที่ใช้เป็นวิธีการปกติในการเดินทางระยะใกล้ๆ ไปเลย ซึ่งก็ดูดีในหนังอย่างที่บอก แต่ถึงอย่างนั้นที่ดูไม่จืดเลยคือเวลาที่คุณเอา effect แบบนี้ไปโชว์ในธีมปาร์คอย่าง Universal Studio ที่ Los Angeles ในยุค ‘90 โดยทำเป็นท่อแก้วใสๆ ตรงที่แต่ละคนจะยืน แล้วฉายรูปลูกเรือแต่ละคนและ effect กลายร่างเป็นพลังงานแบบที่บอก ส่วนที่ว่าดูไม่จืดเพราะมันจะเห็นท่อแก้วชัดๆ ไม่เหมือนในหนังที่ไม่ต้องมีท่อแต่ใช้ตัดต่อภาพเข้าช่วย (ซึ่งผมเองเห็นแล้วก็แบบว่า…ตั้งแต่ตอนไปดู) และมันก็ไม่ค่อยจะมีใครสนใจ อาจจะเป็นเพราะเป็น attraction เก่าที่โชว์มานานแล้ว ยังไม่ได้อัพเกรดเทคโนโลยีละมั้ง อันนี้เก็บความขัดใจมาหลายสิบปี ขอระบายหน่อย 555

ส่วนที่มาของข้อมูลเรื่องนี้ ผมเคยค้นเจอด้วยความขัดใจมาตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว แต่ใครอยากอ่านเพิ่มก็ตามนี้เลยครับ เค้ารวบรวมไว้หมดตั้งแต่ที่มาเบื้องหลังการถ่ายทำ จนถึงอุบัติเหตุและกรณีศึกษาต่างๆ ที่เกิดกับเจ้าเครื่อง Transporter ที่ถูกอ้างถึงในตอนต่างๆ ของ Star Trek ทั้งซีรี่ย์และหนังใหญ่

https://www.looper.com/…/the-untold-truth-about-star…/กลับมาถึงประเด็นหลักที่จั่วหัวไว้ว่า “ความจำเป็นเป็นบ่อเกิดของการประดิษฐ์” (Plato กล่าวไว้เมื่อสองพันกว่าปีที่แล้วว่า “our need will be the real creator” หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษง่ายๆ ว่า “Necessity is the mother of invention”)ก็คือจากการที่งบถ่ายทำไม่พอและจำเป็นต้องหาวิธีแก้นี่แหละทำให้เกิดการปรับบทและประดิษฐ์ Transporter ขึ้นใช้แทน และทำให้ซีรี่ย์นี้เป็นที่จดจำได้อย่างแตกต่างกับหนังผจญภัยในอวกาศเรื่องอื่นๆ ในเวลาต่อมาอย่างชัดเจน

ภาพจากเว็บ Looper.com และ IMDB.com#SciFi#StarTrek